- Competitiveness
การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1.1 Energy จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดย
- คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 และควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง พฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูง กว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได
- ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมี ส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
- เร่งศึกษาโครงสร้างของต้นทุนด้านพลังงานของไทย เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงให้ต้นทุน ด้านพลังงานของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติ และยังคงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้ง มีการส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ Third Party Access (TPA) และระบบ Net Metering ในการซื้อขายพลังงานที่ผลิตได้ เพื่อสร้างกลไกเสรีด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
- มีมาตรการรับมือในช่วงที่ราคาพลังงานมีความผันผวน และส่งผลทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยการจัดหาเชื้อเพลิงประเภทอื่นทดแทนเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวในการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ให้โรงงานเดิมสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากกว่า 1 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตติดตั้ง Solar Cell
1.2 โครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มี 3 เรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังนี้
- โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ
- ผลักดันการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ สร้างความตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนแนวคิด (Mind set) ในการใช้น้ำอย่าง รู้คุณค่า และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควรมีการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่
- โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้า บริการ และโลจิสติกส์
- เร่งรัดโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนดำเนินงาน โดยเฉพาะระบบรางให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว รองรับการขนส่งสินค้าและบริการให้มีต้นทุนเหมาะสม แข่งขันได้
- นำระบบ IT มาใช้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้ง ศึกษาข้อมูลและผลกระทบการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างรอบด้าน เพื่อให้การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปเกิดประโยชน์สูงสุด
- ปรับปรุงกฎระเบียบด้านกระบวนการขนส่งสินค้าและบริการ รองรับการกระจายสินค้าและบริการไปยังพื้นที่ต่างๆอย่างสะดวก สนับสนันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
- โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
- จัดให้มีระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล และ ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literary) ให้กับประชาชนทุกระดับ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์ การหลอกลวง และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ
- สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน
- ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม High Technology และนวัตกรรมใหม่ที่มี มูลค่าสูงและไม่มีมลภาวะ
- ส่งเสริมสิทธิประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมกับสากล โดยเฉพาะการจัดทำแผนสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน
- ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Hub ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคระดับสูงและความสะดวกในการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจทุกประเภท
- สนับสนุนมาตรการเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในอัตราดอกเบี้ยที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้
- สนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาโครงการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
1.3 FTA เร่งการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ สำหรับสินค้าไทย และเป็นการกระจายความเสี่ยงในตลาดเดิมที่มีอยู่ และสร้างโอกาสใหม่ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป, GCC, แอฟริกา, และลาตินอเมริกา ซึ่งประเทศไทยจะเกิดการปรับตัวเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ของ FTA ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง เปรียบเทียบ FTA กับประเทศคู่แข่งขันทางการค้าของไทย เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างและจุดเด่นของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งควรทำให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ฝืนและสวนทางคู่แข่งทางการค้าของประเทศไทย
- พัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เชื่อมโยงข้อมูลการค้า ข้อมูลการชำระเงิน และข้อมูลในระบบภาษีของภาครัฐอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามาอยู่ในระบบ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business หรือ PromptBiz ที่เป็น Common Utility เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับการบริหารความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนอย่างเท่าเทียมให้กับธุรกิจทุกขนาด ผ่านบริการ Digital Supply chain Financing
- มีมาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุนวัตถุดิบราคาแพง และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยมีการจัดทำแผนพัฒนารองรับปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นของประเทศ มีการทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี และให้เกิดการจับคู่ความต้องการของผู้ประกอบการไทยและผู้ผลิตวัตถุดิบภายในประเทศ รวมทั้งขยายตลาดการค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่ม Market Access ให้กับประเทศไทยในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบมากขึ้น
- พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาและลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยการวางแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการวางผังเมือง อนุญาตให้โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรสามารถตั้งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบได้เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง รวมทั้งเร่งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบ (Multi-Model Transport) และมีการเชื่อมต่อการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สามารถแข่งขันได้
- Ease of Doing Business
2.1 ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
- ขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการขออนุมัติ/อนุญาตและการจดทะเบียน รวมถึง การอำนวยความสะดวกวีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ให้มากขึ้น พร้อมทั้ง ประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานเพื่อต่อยอดและขยายผลไปยังกระบวนงานอำนวยความสะดวกต่างๆ ในระยะต่อไป
- สนับสนุนและประชาสัมพันธ์ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ในการติดต่อกับทางราชการอย่างรวดเร็ว เปิดเผยและโปร่งใส
- สนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินและการค้าระหว่างกันในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) ซึ่งต้องพัฒนามาตรฐานและกฎหมายให้ครอบคลุมเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศคู่ค้าในทุกด้าน (Cross-border interoperability) อาทิ ด้านการชำระเงิน และระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) แทนการใช้กระดาษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
- Digital Transformation
3.1 ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
- ส่งเสริมให้เกิด Digital Transformation ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)
- ส่งเสริมการก้าวสู่ Cashless society และ Digital economy ที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินระบบ PromptPay โดยต่อยอดใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เป็น Common Utilityอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดแนวคิดที่ลดความซ้ำซ้อน และลดต้นทุนการใช้เงินสดให้กับทุกภาคส่วน
- เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งพัฒนาระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และลดปัญหาทุจริตคอร์ปชัน
- Human Development
4.1 การปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ โดยปรับอัตราค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้กลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และใช้หลักเกณฑ์ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
4.2 การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย ควรกำหนดทิศทางของประเทศไทยในการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อผลิตกำลังคนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้ง บูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดทำข้อมูลฐานแรงงานของประเทศไทย (Big Data) เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังคนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน และสนับสนุนนโยบายกองทุนเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรและองค์ความรู้ (Knowhow) สำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนมีการเจรจานำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ เพื่อมาทดแทนแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลน
- การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย ควรจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว พร้อมทั้ง จัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระบบใหม่ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน (OSS) และลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการคุ้มครองสิทธิ
- การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดย การสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากลเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายมาตรฐานฝีมือแรงงาน และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ และสอดรับกับอัตราตอบแทนค่าจ้าง และส่งเสริมนโยบาย “คูปองฝึกทักษะ Re-Skill & Up-Skill” เพื่อสามารถนำไปรับการ ฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ อีกทั้ง ควรทำให้เกิดการบูรณาการ การพัฒนาบุคลากรทั้งระบบ มีจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการฝึกอบรม Up-skill/Re-skill/Multi-skill/Future-skill และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และแก้ไขปัญหา Skill Mismatch โดยเฉพาะด้านการผนวกและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการในการดึงดูดและการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก Global tech talents เพื่อให้ประเด็นด้านแรงงานไม่เป็นอุปสรรคของประเทศในการดึงดูดการลงทุน รวมถึงให้แรงงานไทยมีทางรอดจาก Technology Disruption
- สร้างข้อมูลภาครัฐให้เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนและออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อที่จะทำให้ภาครัฐสามารถใช้ Big data นี้ในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับสวัสดิการด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด ถูกกลุ่มเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อน ป้องกันการรั่วไหลของเม็ดเงิน
- รัฐควรปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น ค่าใช้จ่ายพื้นฐานของครัวเรือน ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น เพื่อลดภาระให้กับแรงงานสามารถดำรงชีพโดยไม่กระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้าง
- SME
5.1 การเข้าถึงแหล่งทุน มาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมีความจำเป็นมาก รัฐบาลควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง มาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ การเลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ มีความจำเป็น เพื่อผู้ประกอบการมีโอกาสกลับมาแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง
- การปรับโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับทิศทางรายได้ของธุรกิจและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ บนพื้นฐานของการส่งเสริมการรักษาวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
- ปลดล็อกให้ SMEs เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ ผ่านการส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ (Alternative credit scoring) บนหลักคิดของ Information-based lending มากขึ้น และสนับสนุนวงเงินและเพิ่มสัดส่วนการชดเชยความเสียหาย ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ในกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนช่วยอุดหนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อยาวนานขึ้น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบอย่างทั่วถึงมากขึ้น (Financial Inclusion)
- จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- สนับสนุนงบประมาณในการช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถพัฒนาและเข้าถึงบริการด้าน Digital service เช่น การสนับสนุนเงินอุดหนุน 50% ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนพัฒนาระบบ Digital service ในองค์กร เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Transformation
- ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ SME เข้าระบบภาษี
- Sustainability
6.1 ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG อาทิ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยส่งเสริมยกระดับการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พัฒนากระบวนการผลิต การจัดการของเหลือทิ้ง (Waste to Value)
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวผ่านส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทาง ESG และขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสังคมรีไซเคิลทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รับรีไซเคิล และการจัดการองค์รวม มีการส่งเสริมมาตรฐาน Circular Economy ของไทย และผลักดันให้เป็นที่ยอมรับในสากล รวมทั้งมีการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนเพื่อจูงใจสำหรับผู้ประกอบการรีไซเคิลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ตลอดจนมาตรการสนับสนุนพลาสติกชีวภาพทั้งระบบ
นอกจากนี้ควรมีมาตรการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน เช่น มาตรการสนับสนุนการลงทุนใน Green Technology ของประเทศ อาทิ เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) เทคโนโลยี Green Hydrogen และ Infrastructure ต่างๆ รวมไปถึงมาตรการสำหรับช่วย SMEs ในการปรับตัว ตลอดจนสนับสนุนการใช้กลไกตลาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต ในวงกว้างขึ้น และให้มีแผนงานและมาตรการที่ชัดเจนโดยเฉพาะมาตรการในการอนุรักษ์หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียว
โดยสร้างความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนในการขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นแกนกลางสำคัญของเศรษฐกิจโดยถ่ายทอดองค์ความรู้ มีมาตรการสนับสนุน และช่วยเหลือเพื่อให้ SMEs พัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
- ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว กลุ่มนี้ต้องเข้าไปช่วยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG
- ภาคธุรกิจขนาดกลาง ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในแง่แหล่งเงินทุน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจแบบเดินสู่แนวทางที่คำนึงถึง BCG รวมถึงกองทุน หรือ แหล่งเงินทุน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ทั้ง SME และ Micro SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากสุดของประเทศที่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ และหากรณีความสำเร็จ (Success Case) ที่จะเป็นโมเดลต้นแบบให้เดินตามได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนที่รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน เพราะถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้มแข็งและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆให้สอดคล้องกับ BCG Model
- แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง Bank, Non-bank และสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมไปถึงการปรับมาตรการและแรงจูงใจให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับการออมก่อนเกษียณมากขึ้น รองรับภาวะสังคมสูงวัย
- ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาปรับเพิ่ม Incentive ราคารับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อย CO2 และปัญหาฝุ่น PM 2.5
- ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม โดยมี Incentive จูงใจให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อบรรลุเป้าหมายการประหยัดพลังงานและลดการปลดปล่อย CO2
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon