FSMART ไตรมาส 1/66 กำลังซื้อฟื้น กำไรเพิ่ม 42.7% QoQ เร่งผลิตGINKAติดตั้งพื้นที่เป้าหมาย – ปั๊ม EV และคาเฟ่อัตโนมัติ

96

มิติหุ้น – นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้นำเครือข่ายอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 511 ล้านบาท กำไร 77.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไร 54.4 ล้านบาท เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น จากมูลค่าการทำรายการ 8,768 ล้านบาท มากกว่าไตรมาสก่อน ด้วยบริการของบริษัท 3 ช่องทาง ทั้งตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศและบริการที่หลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่เติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการเติมอินเตอร์เน็ตแพ็คเกจที่มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับบริการฝากเงินและโอนเงินผ่านตู้บุญเติม ที่มีจำนวนการทำรายการเฉลี่ย 1.51 ล้านรายการต่อเดือนเติบโตขึ้นกว่าไตรมาสก่อนเช่นกัน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ผู้บริหารจัดการ “ตู้เต่าบิน” 26.71% โดย    ไตรมาสนี้ยอดขายเติบโตขึ้นจากขยายจุดติดตั้งเพิ่มรวมเป็น 5,537 ตู้ และยังคงขยายการติดตั้งเพิ่มตามแผน 10,000 ตู้ รวมทั้ง    จัดรายการส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างความต้องการซื้อจากลูกค้าประจำและเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่อีกทางหนึ่ง

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตโดยรวมไม่น้อยกว่า 5-10% โดยมีงบลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านบาทเพื่อบริหารจัดการ 3 กลุ่มธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น  ได้แก่ ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ บริษัทจะเพิ่มช่องทางการให้บริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ราย เพื่อรักษาลูกค้าประจำกว่า 15 ล้านราย และส่งเสริมลูกค้าใหม่มาใช้บริการ ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ผลักดันการถอนเงินด้วยบัตรผ่านตู้บุญเติม เพิ่มเติมจากการเป็นตัวแทนธนาคาร ให้บริการฝาก-โอน-ถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม และ e-KYC เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก ใช้งานง่าย เปรียบเสมือนธนาคารชุมชนที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อ ด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระสินค้า (Buy now pay later: BNPL) พร้อมกับการเพิ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยการให้วงเงินสินเชื่อผ่านการผูกบัญชีเพื่อชำระค่าสินค้ารายเดือนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการบริหารการเรียกเก็บหนี้และบริหารหนี้ให้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอนาคตอย่างเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ยังคงเป็นเรือธงที่สร้างผลตอบแทนให้กับบริษัททั้งปัจจุบันและอนาคต โดยคาเฟ่อัตโนมัติ “เต่าบิน” พัฒนาตู้ให้สามารถขายได้ 400 แก้ว ต่อการเติมวัตถุดิบ 1 รอบ พร้อมทั้งเพิ่มเมนูใหม่ ๆ การโฆษณาสื่อสารและจัดแคมเปญตลอดทั้งปี ส่งผลดีต่อการขยายตู้เพิ่มเป็น 10,000 ตู้ได้ตามแผนในปีนี้ จากที่ขณะนี้ติดตั้งไปแล้ว 5,537 ตู้ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566)

ส่วนเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge Point นั้น อยู่ระหว่างการผลิต และคาดว่าจะติดตั้งได้ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีเป้าหมายติดตั้งในพื้นที่ปิดตามคอนโด ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งเร่งออกเคาน์เตอร์อัตโนมัติ  ขายเครื่องดื่มชงสด  ขายก๋วยเตี๋ยว และขายอาหารประเภทอื่น ๆ ในรูปแบบใหม่ EV Station  และร้านคาเฟ่อัตโนมัติที่มีที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 5,000 จุดในหนึ่งปี เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท และบริษัทในเครือให้ครบวงจร เป็น Community อัตโนมัติที่ผู้ใช้ให้บริการด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแผนธุรกิจที่ต่อเนื่อง และสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้กับบริษัทในอนาคต

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon