มิติหุ้น – บมจ.ยูเอซี โกลบอล (“UAC”) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 รายได้รวม 501.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.82 ล้านบาท คิดเป็น 3.05% เมื่อเทียบกับ YoY ขณะที่กำไรส่วนที่เป็นของบริษัทฯ อยู่ที่ 88.66 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 143.24 ล้านบาท จากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ Trading- Manufacturing – Energy & Petroleum ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” เร่งเดินเกมรุกลุยเปิดโปรเจ็กต์ “โรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน – โรงผลิต RDF3 – แหล่งผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัย (L10/43) และบูรพา (L11/43)” หนุนรายได้ปีนี้เติบโตตามแผนที่วางไว้ และ EBITDA เติบโตมากกว่า 20%
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2566 บริษัทฯมีรายได้จากการขายและบริการ 416.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.30 ล้านบาท หรือ 3.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) รายได้อื่น 85.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.53 ล้านบาท หรือ 5.62% ได้รับเงินปันผลจากบริษัทร่วม UAPC จำนวน 15.11 ล้านบาท และบริษัทฯได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วม (BBGI Biodiesel) จำนวน 3.73 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากราคาปาล์มยังมีความผันผวน ซึ่งคาดว่าราคาปาล์มจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2566 ทั้งนี้ กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และ EBITDA อยู่ที่ 88.66 ล้านบาท และ 143.24 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่กระแสเงินสด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ 330.84 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นของ UAPC บางส่วนให้กับกลุ่ม ICAP-SIRA และการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจาก UAPC ส่งผลให้มีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.88 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายทางการเงินของบริษัทที่รักษาระดับ D/E ไม่เกิน 2 เท่า
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ “UAC” เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 แบ่งตามกลุ่มธุรกิจโดย กลุ่มธุรกิจ Trading มีรายได้รวม 363.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60 ล้านบาท หรือ 2.13% (YoY) เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดขายในกลุ่ม Energy จำนวน 87.91 ล้านบาท หลังจากปัญหาการขนส่งสินค้าจาก Principle หลักบางรายเริ่มคลี่คลาย ขณะที่กลุ่ม Industrial มียอดขายลดลง 127.25 ล้านบาท จากการสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสำรวจปิโตรเลียมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นยอดขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยในไตรมาส 1/2566 มียอดขายที่เป็นการขายสินค้าผ่านบริษัทฯ จำนวน 313.33 ล้านบาท และบริษัท ยูเอซี เทรดดิ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด (UACT) จำนวน 50.35 ล้านบาท
ด้าน กลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Energy & Petroleum มีรายได้รวม 52.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.70 ล้านบาท หรือ 9.86% (YoY) ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้จากโรงงาน PPP ที่ได้รับ Associated Gas ตามแผนที่วางไว้ และราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โรงไฟฟ้าเสาเถียรและโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าแผนที่วางไว้ แม้ว่าโรงไฟฟ้าพืชพลังงานแม่แตงมีรายได้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการซ่อมบำรุงเครื่องจักร โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มธุรกิจ Petroleum ของ UAC Utilities ในแหล่งบูรพา (L11/43) ยังคงดำเนินการผลิตแบบ Natural Flow โดยส่งขายไปยังกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน มีรายได้ทั้งสิ้น 3.62 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Chemicals ดำเนินกิจการโดยบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 30% มีรายได้จากการขายและบริการ 84.57 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3.34 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 บริษัทฯได้โอนขายหุ้นจำนวน 630,000 หุ้น ให้กับ ICAP-SIRA CHEMICALS AND POLYMERS SPA. (“ICAP-SIRA”) และ ICAP-SIRA ASIA PTE. LTD. (“ICAP-SIRA ASIA”) ส่งผลให้ UAPC เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วม โดยไตรมาส 1/2566 ผลการดำเนินงานของ UAPC จะแสดงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (กำไรจากการดำเนินงานที่ยกเลิก 3.34 ล้านบาท) และตัดรายการสินทรัพย์และหนี้สินของ UAPC เดิมที่เคยมีการควบคุมออกจากงบแสดงฐานะทางการเงินรวมตามมาตรฐานทางบัญชี จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม และบริษัทฯจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานในแต่ละโครงการ นั้น นายชัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่านที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะ COD เดินเครื่อง Generator#1 ที่กำลังการผลิต 1.5 MW. ภายในไตรมาส 3/2566 และจะเริ่ม COD เดินเครื่อง Generator#2 กำลังการผลิต 1.5 MW. ภายในไตรมาส 4/2566 รวมจ่ายไฟฟ้าทั้งสิ้น 3MW.
สำหรับโครงการในส่วนของบริษัท เวียงจันทน์บริหารขี้เหยื้อ จำกัด (VWM) ซึ่งเป็นโรงงานผลิต RDF3 ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน RDF เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเครื่องจักร และจะทำ Performance Test ภายในวันที่ 20 – 22 พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะสามารถส่งมอบ RDF3 ให้แก่โรงปูนซีเมนต์คำม่วน (KCL) ได้ทันทีที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
ขณะที่โครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งอรุโณทัย (L10/43) จากแผน Production Test ในเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2566 ได้เริ่มทำ Site Preparation บนพื้นที่ C เพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์ โดยเริ่มทดสอบการผลิตแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมาและเริ่มจำหน่ายน้ำมันดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมันเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากความุ่งมั่นในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด -พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการศึกษาการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการร่วมทุนพันธมิตรระดับชั้นนำ เพื่อยกระดับองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยจากแผนกลยุทธ์ดังกล่าว จะส่งให้บริษัทฯวางเป้าหมายอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 2566 เติบโตได้ตามแผน และ EBITDA เติบโตได้มากกว่า 20% ของรายได้ยอดขายรวม
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon