มิติหุ้น – บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ประกาศแผนขยายธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในภูมิภาคอาเซียนหลังรวมกิจการ เดินหน้าแผนงาน 5 ส่วน ผลักดันเป้าหมายรายได้ปีนี้ 30,000 ล้านบาท ภายใต้งบลงทุนรวม 3,500-5,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายรายได้ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2569) เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นำร่องผสานความร่วมมือลดต้นทุนจากการรวมคำสั่งซื้อสินค้าและบริการ มุ่งขยายธุรกิจเดิมและรุกบริการใหม่ เตรียมลุยดีลใหญ่เข้าถือหุ้น 100% ใน SCG Inter Vietnam เพื่อให้บริการแก่ธุรกิจเครือ SCG และลูกค้าทั่วไปในเวียดนาม รุกให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนกัมพูชา-ไทยแบบ “ไฮบริด โมเดล” ทางรางและรถ วางแผนนำโมเดล “คลังสินค้าห้องเย็น” และ “โลจิสติกส์ยานยนต์” ในไทย บุกเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้รวมกิจการเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ผสานความร่วมมือตามแผนงาน 5 ส่วนที่วางไว้ ได้แก่ (1) การประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิม (2) สร้างมูลค่าเพิ่มแก่บริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ (3) เชื่อมต่อการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อโดยนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในอาเซียน (4) ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และ (5) ขยายขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องไปยังธุรกิจใหม่
โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายปี 2566 มีรายได้รวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากในประเทศไทยประมาณ 90% และต่างประเทศอีก 10% พร้อมตั้งงบลงทุนรวม 3,500-5,000 ล้านบาท และคาดหวังปิดดีล M&A เพิ่มเติมได้ภายในปีนี้ ส่วนเป้าหมายระยะยาวในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะมียอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30%
ทั้งนี้ หลังจากรวมกิจการแล้วในช่วงที่ผ่านมาได้ผสานความร่วมมือกันเพื่อลดต้นทุนแล้วบางส่วน ได้แก่ การรวมคำสั่งซื้อสินค้าและบริการ เช่น การใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ซื้อประกันภัย เป็นต้น การรวมฟลีตรถและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตซึ่งจะมีผลต่อการลดต้นทุนทางการเงิน นอกจากนี้ได้ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่ายทำ Cross-Sale และ Up-Sale เพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริการเดิม การเชื่อมต่อบริการในภูมิภาคอาเซียนโดยนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไทยไปต่อยอด การให้บริการแบบ D2C และการขยายขอบเขตการบริการไปยังธุรกิจใหม่นั้น จะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในไทยและอาเซียน ล่าสุดเตรียมเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม จำกัด หรือ SCG Inter Vietnam จากบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามแผนงานที่วางไว้ โดยปัจจุบัน SCG Inter Vietnam เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในประเทศเวียดนาม มีลูกค้าหลักเป็นธุรกิจในเครือ SCG และให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ล่าสุดเตรียมให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายแก่สินค้าเคมีภัณฑ์ในโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ซึ่งเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ที่ลงทุนโดยเครือ SCG คาดว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 และบริษัทฯ คาดว่าในช่วงแรกจะรับรู้รายได้จาก SCG Inter Vietnam 800-1,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ได้วางแผนร่วมมือกับ Transimex Corporation ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นที่เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในประเทศเวียดนามเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการขยายขอบเขตการบริการไปยังธุรกิจใหม่ บริษัทฯ ได้ต่อความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนของทั้ง 2 ฝ่าย กับ Cambodia Railway พาร์ทเนอร์จากกัมพูชา เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากกัมพูชา-ไทย ในรูปแบบแบบ “ไฮบริด โมเดล” ครอบคลุมการขนส่งทางรางและทางรถ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการให้บริการและช่วยลดต้นทุนแก่ลูกค้า โดยบริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในไทย ที่สามารถให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากกัมพูชา-ไทย แบบไฮบริดและ “Door-to-Door Service” (จากผู้ส่งถึงผู้รับ) ตอกย้ำการเป็น First Mover ในการนำเสนอบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นอกจากนี้ได้วางแผนยกระดับธุรกิจโรงเรียนสอนขับรถ เป็น “สถาบันสอนขับรถ” เพื่อขยายบริการฝึกอบรมแก่บุคลากรภายในเครือ SCG ไปยังลูกค้าภายนอก
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนขยายธุรกิจเดิมและรุกให้บริการใหม่ ๆ ผ่านการร่วมทุนและทำ M&A โดยเตรียมนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระดับภูมิภาคและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ไปยังโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรและจัดส่งแก่ดีลเลอร์รถทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปีหน้าและรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2568
เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างวางแผนนำโมเดลธุรกิจ “คลังสินค้าห้องเย็น” และ “โลจิสติกส์ยานยนต์” ไปขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุด 3 อันดับแรกในอาเซียน รูปแบบจะเป็นการเข้าถือหุ้นหรือร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศ โดยมองว่าทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นและยังเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอีกด้วย
นอกจากนี้ ได้วางแผนขยายการให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ยาและเวชภัณฑ์, สินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจะต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในบริการคลังสินค้าห้องเย็นและรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิสำหรับวัคซีน โดยได้วางงบลงทุน (เฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ) ตามแผน 5 ปี ประมาณ 450 ล้านบาท
“หลังจากรวมกิจการเป็น เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ ทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งและศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยผสานความเชี่ยวชาญ เพื่อรุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และพร้อมรับมือกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมและความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ” นายชวนินทร์ กล่าว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon