BAY ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังสร้างความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของโลก แม้การขยายตัวของภาคบริการช่วยบรรเทาความวิตกภาวะ Hard landing

97

มิติหุ้น – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมลงนามข้อตกลงขยายเพดานหนี้สัปดาห์นี้ ขณะที่ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาผสมผสาน ในเดือนเมษายน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เพิ่มขึ้นสู่ 10.1 ล้านตำแหน่ง สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ 9.37 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 339,000 ตำแหน่ง แต่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ 3.7% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงสู่ 4.3% อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคการผลิตของ ISM ปรับลงสู่ 46.9 สะท้อนภาวะหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ก่อนส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปเพื่อปิดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้วันที่ 5 มิถุนายนนี้ ในส่วนของ ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจค่อนข้างผสมผสาน โดยดัชนีภาคการผลิตยังคงหดตัวและอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนในปี 2544 2552 รวมถึง 2563 (ต่ำกว่า 45) ขณะที่ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตร ยังคงสะท้อนความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรง (recession) อย่างไรก็ตาม ภายใต้ค่าจ้างที่ชะลอลงและอัตราการว่างงานที่เริ่มเพิ่มขึ้นวิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมิถุนายนเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเป็นบวก ลดความเสี่ยงในภาคธนาคารและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแรงในระยะข้างหน้า

เงินเฟ้อพื้นฐานของยูโรโซนที่ปรับลงช้า คาดหนุน ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในเดือนเมษายน อัตราการเติบโตของสินเชื่อธนาคารที่ให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในยูโรโซนชะลอลงสู่ 4.6% และ 2.5% YoY ตามลำดับ ขณะที่การขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ (M3) ชะลอลงสู่ 1.9% ลดลงมากกว่าตลาดคาดที่ 2.1% ส่วนในเดือนพฤษภาคม ดัชนีภาคการผลิตยังคงหดตัวที่ 44.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ 6.1% YoY

ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนในสัปดาห์ที่แล้วส่วนใหญ่สะท้อนภาพรวมในเชิงลบ โดยดัชนีภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ขณะที่การให้สินเชื่อของธนาคารชะลอลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ส่วนปริมาณเงินในระบบ (M3) ขยายตัวช้าสุดในรอบ 9 ปี เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อเทียบรายปี แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนชะลอลงมากกว่าคาดในเดือนพฤษภาคม (6.1% vsตลาดคาด 6.3%) แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัวสูงที่ระดับ 5.3% อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ ECB ยังคงเลือกที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินต่อ โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกอย่างน้อยสองครั้ง (ครั้งละ 0.25%) เพื่อให้บรรลุเสถียรภาพด้านราคาและอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางที่ประมาณ 2%

การฟื้นตัวตามวัฏจักรยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนำโดยภาคบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่และรายเล็กฟื้นตัวแตกต่าง ในเดือนพฤษภาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนซึ่งสำรวจผู้ประกอบการขนาดใหญ่ พบว่าดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้จะชะลอลงสู่ 54.5 จาก 56.4 ในเดือนเมษายน แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 และสูงกว่าตัวเลขในปีที่ผ่านมา ส่วนดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ที่ 48.8 จาก 49.2 และหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2  สำหรับการสำรวจผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กโดยภาคเอกชนหรือ Caixin พบว่า ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัวในเดือนพฤษภาคม โดยเพิ่มขึ้นสู่ 50.9 จาก 49.5 ดัชนีย่อยด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 11 เดือน และด้านคำสั่งซื้อขยายตัวมากสุดในรอบ 2 ปี แต่ด้านความเชื่อมั่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการฟื้นตัวตามวัฏจักร (Cyclical Recovery) ยังหนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงราว 5-6% ในปีนี้ สะท้อนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการ ผนวกกับการกลับมาขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมรายกลางและรายเล็ก นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายน และอัตราการว่างงานในเขตเมืองลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนที่ 5.2% ในเดือนเมษายน ซึ่งดีกว่าเป้าหมายของทางการที่ 5.5% ทั้งนี้ แม้การฟื้นตัวตามวัฏจักรจะหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ แต่แรงส่งอาจถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเชิงโครงสร้างของจีน เช่น ความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาโครงสร้างประชากร เป็นต้น

กิจกรรมในภาคบริการช่วยหนุนเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่กนง.อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิงหาคมท่ามกลางการชะลอลงของเงินเฟ้อและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ชี้เศรษฐกิจอาจเติบโตดีกว่าคาด ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังสูงเมื่อเทียบกับอดีต การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 31 พฤษภาคม มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.00% โดยประเมินเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวส่งผลบวกต่อการจ้างงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าขยายตัวที่ 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 (เดิมคาด 2.9%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0% (เดิมคาด 2.4%)

แม้ล่าสุดกนง.มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลงก็ตาม แต่ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต รวมถึงชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากนโยบายเศรษกิจของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่ายังมีสาเหตุสำคัญที่จะสนับสนุนให้กนง.อาจยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจาก (i) เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และ 3 มีแนวโน้มทรงตัว โดยคาดว่าอาจเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3.7% (ii) ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และ (iii) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจต่ำกว่า 1.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้ที่ 2.0% นอกจากนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับมาเป็นบวกได้นับจากนี้  ดังนั้น ในการประชุมกนง.ครั้งหน้าวันที่ 2 สิงหาคม วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ที่ 2.0% อย่างไรก็ตาม ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีเกินคาดและสถานการณ์การเมืองมีพัฒนาการไปในทางบวกมากขึ้น

ภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศหนุนเศรษฐกิจเดือนเมษายนฟื้นตัวต่อเนื่อง วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไตรมาสสองเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (-4.9% YoY) ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง (-8.1 %) และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอในหมวดการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์

หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และเติบโตได้ 2.7% ขณะที่เครื่องชี้เดือนเมษายนสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้จะขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการจ้างงาน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 2.0% และภาคส่งออกยังมีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับทั้งปี 2566 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.3% โดยยังต้องติดตามการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon