วว. ผนึกกำลัง สผ. ผลักดันระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

86

มิติหุ้น – ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายพิรุณ  สัยยะสิทธิ์พานิช  เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อสนับสนุน เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ พร้อมผลักดันระบบคลังข้อมูลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบคลังข้อมูล การบำรุงรักษา และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย ตลอดจนการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โอกาสนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ  ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร ADMIN วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้คือการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้ากับระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ สอดคล้องกับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย วว. มีฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศ อาทิ ศูนย์จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิด ที่มีประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระบบมาตรฐานสากล (ISO) ที่ให้บริการด้านจุลินทรีย์ (Service Culture Collection) แห่งเดียวในประเทศไทยและได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO เมื่อปีพ.ศ. 2519 รวมทั้งสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชีย ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด (In-situ) และเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-BIF) มาจากการดำเนินงานเพื่อตอบสนองทิศทางนโยบายของประเทศไทยในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 – 2565 ในประเด็นปฏิรูปเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายการดำเนินงานเชื่อมโยงฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพกับหน่วยงานเครือข่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้ TH-BIF มีข้อมูลที่พร้อมใช้ มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการวางแผน และประกอบการตัดสินใจในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลการใช้ทรัพยากรชีวภาพในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนร่วมกันต่อไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon