Global X ETFs จัดงานสัมมนาออนไลน์ แชร์มุมมองการลงทุนในผลิตภัณฑ์ ETFs

148

มิติหุ้น – Global X ETFs ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETFs) ชั้นนำระดับโลกได้เผยมุมมองภาพรวมต่อตลาดครึ่งปี 2566 ในงานสัมมนาออนไลน์ Global X ETFs: Artificial Intelligence, Robotics & Automation, and Mobility are the key investment themes for 2H2023

 

ในงานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ จอน ไมเยอร์ (Jon Maier) – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (CIO) Global X ETFs ได้กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในระดับมหภาคช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อกำลังชะลอความรุนแรงลง แต่ยังลดลงไม่มากนัก นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Inflation) ยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้ ตลาดแรงงานมีความตึงเครียดขึ้น เนื่องจากการปรับตัวของค่าแรงที่สูงขึ้น แต่ในภาคการผลิตยังมีการชะลอตัว ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ระงับการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเพื่อประเมินผลของนโยบายอย่างเข้มงวด แต่ยังคาดว่าจะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม  ซึ่งข้อกำหนดใหม่และท่าทีของธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสต่อๆ ไป จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดตราสารทุน (equity) และตลาดตราสารหนี้ (fixed income)  นอกจากนั้นยังคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวตามลักษณะกราฟ inverted yield curve  ความผันผวนจากข้อมูลงาน ตลอดจนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยังคงมีสัญญาณอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนของตลาด ซึ่งจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเมื่อต้องตัดสินใจ

 

นอกจากนั้น จอน ไมเยอร์ ยังได้กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีลักษณะของการชะลอตัวที่ไม่สม่ำเสมอ  ซึ่งมีความแตกต่างจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551  นั่นคือ ลักษณะของการชะลอตัวที่ไม่สม่ำเสมอที่สังเกตเห็นได้จากภาคส่วนต่างๆ อีกทั้งพฤติกรรมการออมของผู้บริโภค พร้อมกับภาวะการฟื้นฟูหลังวิกฤตการเงินโลกทำให้เกิดการเติบโตที่ไม่ได้สัดส่วน ในขณะเดียวกันการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้เพิ่มแรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitical uncertainties) ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ และมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง มีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในแนวบวกในระดับปานกลางในช่วงปลายปี นักลงทุนอาจพิจารณาหุ้นตั้งรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ (large-cap quality stock)  เนื่องจากสามารถป้องกันความเสี่ยงขาลงได้ (downside protection)  ในงานสัมมนายังได้พูดถึงการประเมินมูลค่าของ S&P 500 ในปัจจุบันว่าเป็นไปตามค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (price-to-earnings ratio) อยู่ที่ประมาณ 22 เท่า ซึ่งเป็นการลดลงร้อยละ 25 จากจุดสูงสุดในปี 2564

 

ในงานสัมมนาออน์ไลน์ดังกล่าว มิเชล คูเวอร์ (Michelle Cluver)  – ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดพอร์ตการลงทุนอาวุโส จาก Global X ETFs  กล่าวว่า การจัดพอร์ตการลงทุนที่ควรเน้นถึงคุณภาพเป็นหลักและมีความหลากหลาย ความไม่แน่นอนของตลาดในปัจจุบันเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงขา  ซึ่งสามารถทำได้โดยการมุ่งเน้นไปที่หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดขนาดใหญ่ (large-cap quality stock) นอกจากนี้ การจัดพอร์ตการลงทุนโดยอาศัยการจับทิศทางกระแสโลก (thematic exposure) สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงในระยะยาวและช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น ในกรณีที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งกระแสการลงทุนที่น่าสนใจมีดังนี้

 

เทรนด์เอไอมาจริง และกำลังก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

 

แม้ว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI-related equities) จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือต้องตระหนักว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นธีมแบบระยะยาวที่ยังคงมีอิทธิพลสูง กลุุ่มนักวิจัยทำงานอย่างหนักในเรื่องของการผลิต AI รวมถึงการพัฒนาเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มาเวลาหลายปี ตัวอย่างเช่น OpenAI ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้เล่นหลักในด้านนี้ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา

 

แม้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกาจะครองตลาด AI ในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังเล็งเห็นโอกาสอีกมากมายในการพัฒนาระบบนิเวศ AI ในระดับที่ใหญ่ขึ้น ระบบนิเวศนี้ครอบคลุมถึงบริษัทต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductors)  ระบบ cloud computing และระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) และอื่นๆ ซึ่งต่างได้รับประโยชน์จากการพัฒนา AI

 

เมื่อพิจารณาถึงนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในด้าน AI คาดการณ์จะเกิดการเติบโตที่สำคัญ จากการคาดการณ์พบว่าตลาด AI ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ร้อยละ 35.6 จากยอดขายเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 ซึ่งคิดเป็น 10 เท่าของขนาดในปี 2563

 

ธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

 

ระบบอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประสิทธิภาพ การเติบโต และการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ช่วยให้บริษัทต่างๆ บรรลุระดับการผลิตที่สูงขึ้นผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์

 

ในขณะที่แรงงาน (ทั้งการทำงานบนภาคพื้น และนอกชายฝั่ง) ยังคงมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนด้านหุ่นยนต์กลับลดลง ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยี จึงช่วยผลักดันให้เกิดการนำระบบอัตโนมัติมาใช้

 

เทรนด์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า

การเริ่มใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแนวทางหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งภาคการขนส่ง คาดว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็นร้อยละ 36 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2573 และร้อยละ 55  ในปี 2578 ในขณะที่โลกขยับเข้าใกล้การดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero economy) ในช่วงกลางศตวรรษ ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถทำยอดขายได้มากกว่าร้อยละ 75

 

นอกจากนั้น ยังมีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเน้นที่ยานยนต์ไฟฟ้าล้วนมากกว่าระบบไฮบริด โดยมีสัดส่วนของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบล้วน (Pure EVs) จากร้อยละ 62 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 71  ในปี 2564 ดังนั้น ตลาดยานยนต์ไร้คนขับ (AV) จะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ขนาดตลาดโลกสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ (AV)  อาจสูงถึงประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากผู้ผลิตรถยนต์แล้ว กลุ่มธุรกิจหลักอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็จะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า แบตเตอรี่  เซลล์ไฟฟ้า (Fuel cell) สารเคมี และชิ้นส่วนอื่นๆ รวมถึงบริษัทที่สนับสนุนเทคโนโลยี AV เช่น ระบบเซ็นเซอร์, เทคโนโลยีการทำแผนที่  ระบบ AI และระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง นอกจากนี้แพลตฟอร์มบริการเรียกรถและบริการที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายสำหรับการขนส่งจะได้รับผลเชิงบวกจากการเติบโตของตลาด AV  

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon