Dow เปิดตัวนวัตกรรมเคลือบพื้นห้องโดยสารรถยนต์ ลดเสียงรบกวน ช่วยรถน้ำหนักเบา

26

มิติหุ้น – กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) เปิดตัวนวัตกรรมวัสดุเคลือบพื้นห้องโดยสารชนิดเหลวแบบฉีดพ่น ช่วยลดเสียงรบกวนภายในรถยนต์ (Liquid Applied Sound Damping – LASD) ใช้ทดแทนการปูแผ่นยางกันเสียงที่พื้นห้องโดยสาร โดยฉีดพ่นเคลือบไปบนพื้นรถได้ทุกขนาดแบบไร้รอยต่อ ใช้วัสดุปริมาณน้อยแต่ประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยให้รถมีน้ำหนักเบาขึ้น จึงประหยัดพลังงานและตอบโจทย์ความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนแล้ววันนี้

นวัตกรรมวัสดุเคลือบชนิดเหลว LASD ใช้พ่นเคลือบบนพื้นและปิดช่องว่างภายในรถยนต์แทนการใช้แผ่นยางรองพื้นห้องโดยสาร (bitumen pad) เพื่อช่วยดูดซับเสียงที่เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนหรือการกระทบกันของชิ้นส่วนรถยนต์ สามารถพ่นบนโครงสร้างรถได้ทุกขนาด ทุกรูปร่าง ใช้งานง่ายกว่าแบบแผ่นเพราะไม่ต้องสต๊อคแผ่นยางขนาดแตกต่างกันในแต่ละโมเดลรถ ไม่มีเศษแผ่นยางเหลือทิ้ง

วัสดุเคลือบชนิดเหลวแบบฉีดพ่นของ Dow ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งจากการผลิตและการใช้งาน เพราะใช้ในปริมาณน้อยว่าวัสดุอื่นถึง 50%  โดยใช้เพียง 2.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ขณะที่วัสดุอื่นต้องใช้ปริมาณถึง 4-6 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จึงช่วยให้รถยนต์มีน้ำหนักเบาขึ้น ประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติการปล่อยสารระเหยน้อยกว่ายาง จึงมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าทั้งในโรงงานและในรถใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นเพราะมีโอกาสในการทำปฏิกิริยากับวัสดุในไลน์การผลิตอื่นน้อยกว่า

อาร์โนลด์ เบนิเตส ผู้จัดการฝ่ายการตลาดสีอุตสาหกรรมของ Dow กล่าวว่า “วัสดุเคลือบพื้นห้องโดยสารชนิดเหลวแบบฉีดพ่นของ Dow ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการลดแรงสั่นสะเทือนในยานพาหนะขนาดเล็ก รถบรรทุก รถไฟ เครื่องจักร และอื่น ๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่าแผ่นยางปูพื้นแบบดั้งเดิมและวัสดุทางเลือก LASD อื่น ๆ”

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “นอกจากใช้ในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว นวัตกรรมวัสดุเคลือบ LASD ของ Dow ยังสามารถใช้ลดเสียงรบกวนให้กับยานพาหนะได้หลากหลายประเภท ทั้งรถโดยสารขนาดใหญ่ เรือ หรือ เครื่องบิน ที่ต้องการให้มีน้ำหนักเบา และประหยัดพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้ในการผลิตเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้างและการเกษตร รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยพัฒนาทั้งด้านประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความคุ้มค่าของต้นทุนในการผลิตสินค้าได้เป็นอย่างดี”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง