มิติหุ้น – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ชี้ ตลาดหุ้นเสี่ยงปรับฐานลงอีก เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่สภาพคล่องทั่วโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการ Quantitative Tightening หรือ QT คาดสิ้นปีนี้เห็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Forward P/E) ของดัชนี S&P500 ลดลงมาเทรดที่ระดับต่ำกว่า 17 เท่า จากปัจจุบันที่ 19 เท่า
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU ประเมินว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้น S&P500 จะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือเข้าสู่ภาวะปรับฐาน โดยประเมินว่าในช่วงปลายปี 2566 อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Forward P/E) ของดัชนี S&P500 จะลดลงมาซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า 17 เท่า จากปัจจุบันที่ 19 เท่า และมูลค่าหุ้น Valuation จะลดลงจากปัจจุบันประมาณ 10% โดยมีปัจจัยลบ 2 ประเด็นเป็นตัวกดดัน คือ 1. สภาพคล่องที่ลดลงจากมาตรการ Quantitative Tightening หรือ QT ของสหรัฐฯ และ 2. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่ง TISCO ESU คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในปีนี้
สำหรับมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ของ TISCO ESU นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ประชุม Fed ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ Fed ได้ปรับขึ้นแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot plot) โดยระบุอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี จะอยู่ที่ 5.6% จากปัจจุบันที่ 5.1% เป็นการส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25bps) ในปีนี้ สวนทางกับนักลงทุนในตลาดหุ้นดูจะไม่เชื่อว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งตามที่ส่งสัญญาณ โดยตลาด Fed Fund Futures ประเมินโอกาสที่ Fed จะปรับดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้เพียง 10% ซึ่งทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานหาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาคาดหวังต่อการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้น โดยดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 10% ซึ่งต่างจากการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในอดีต ที่มักจะทรงตัวในกรอบแคบในช่วง 6 เดือนก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย แล้วค่อยปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 10% ในช่วง 6 เดือนหลังจากที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นในปัจจุบันจึงน่าจะสะท้อนว่าตลาดตอบรับต่อปัจจัยบวกจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว จึงทำให้ความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก
นอกจากนั้นตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากสภาพคล่องที่จะเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯเริ่มกลับมาออกประมูลพันธบัตรใหม่เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือนหลังจากที่สภาคองเกรสผ่านกฏหมายประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯไปในต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งการขายพันธบัตรเป็นจำนวนมากจะเป็นการดึงดูดสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯหากรวมพันธบัตรที่ออกใหม่กับมาตรการ QT ของ Fed หรือการปล่อยให้พันธบัตรหมดอายุลงโดยไม่ซื้อกลับซึ่งกำหนดมูลค่าสูงสุดที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนจะเท่ากับว่าปริมาณพันธบัตรที่จะออกขายให้กับภาคเอกชนจะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 7% ของขนาดตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury outstanding) ปัจจุบันที่ 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯอีกทั้งการเพิ่มขึ้นของ Bond Supply ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหนุน Bond yield ให้อยู่ในระดับสูงและส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon