ส่องงบแบงก์ ครึ่งปีแรก จะรุ่งหรือร่วง?

936

เดินทางผ่านมาแล้วครึ่งทางกับปี 66 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การผิดนัดชำระหนี้และการทุจริตของ STARK ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อและความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน ประเด็นทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ทิศทาง Fund Flow ที่ไหลออก โดยต่างชาติขายสุทธิในครึ่งปีแรกไปแล้วกว่า 1 แสนลบ.

 

รวมถึง FED ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกอีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม ซึ่งขึ้นติดต่อกันมาแล้ว 6 ครั้ง อยู่ที่ระดับ 2% ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.66 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ที่ระดับ 0.23% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.53% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนขยายตัว 1.32% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.55% ทำให้ กนง. มีโอกาสชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัด

 

กลุ่มแบงก์ โตได้ดีกว่าตลาด
คาดกำไรสุทธิรวม
H1/66 แตะ 1.22 แสนลบ.

ทางด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะส่งผลดีต่อผลตอบแทนสินเชื่อและกำไรของกลุ่มธนาคาร ซึ่งสินเชื่อที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มยังเติบโตได้ต่อจึงยังคงให้น้ำหนัก “ลงทุนมากกว่าตลาด” และเลือก BBL เป็น Top pick ของกลุ่ม เนื่องจาก BBL เป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ดังนั้นจึงคาดว่ากำไรรวม Q2/66 ของธนาคารทั้ง 8 แห่ง ภายใต้การวิเคราะห์ของบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ได้แก่ BAY ,BBL ,KBANK ,KKP ,KTB ,SCB ,TISCO และ TTB จะอยู่ที่ 6.4 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 8.9% QoQ และ 24.7% YoY ส่งผลให้มีกำไร H1/66 รวมเป็น 1.22 แสนลบ. โต 19.10% YoY จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อและการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปก่อนหน้า

 

 

มองกําไรสุทธิ Q2/66 ลดลง 6% QoQ
แต่เพิ่มขึ้น 7% YoY

ขณะที่ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เผยว่า ใน Q2/66 ธนาคารจะมี Credit Cost เพิ่มขึ้น 0.2% QoQ และ 0.17% YoY โดยแนวโน้ม NPL จะโตขึ้น จากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้การปรับเพิ่ม อัตราการชําระสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างแล้ว แรงกดดันเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ NIM ของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ในครึ่งปีแรก

 

ดังนั้นจึงคาดว่ากำไรรวม Q2/66 ของธนาคารทั้ง 8 แห่ง ภายใต้การวิเคราะห์ของบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้แก่ BBL ,KTB ,SCB , KBANK ,BAY ,TTB , TISCO และ KPP จะอยู่ที่ 5.5 หมื่นลบ. ลดลง 6% QoQ แต่จะเพิ่มขึ้น 7% YoY คาดว่ากําไรสุทธิ BBL ปี 66 จะเติบโตแข็งแกร่งสุด ที่ 13% เนื่องจาก NIM มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นสู่ระดับ 2.5% ภายใน Q3/66

 

ชู KTB – BBL ขยายตัวเด่นสุดในกลุ่ม

ในส่วน บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าธนาคารที่กำไรเติบโตเด่นสุดในกลุ่ม เชิง QoQ คือ KTB โตราว 5.7%  และ BBL ที่ขยายตัวสูงสุด YoY โตราว 52% จากการขยายตัวของ NIM ในส่วน KBANK ,KKP ,TISCO มองกำไรลดลงทั้ง QoQ และ YoY โดยมอง Credit Cost ของ KBANK จากกรณีลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งผิดนัดชำระ , KKP มีแรงกดดันด้าน NPL จากพอร์ตเช่าซื้อสูงขึ้น YoY ขณะที่ TISCO ถูกกดดันจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามภาวะตลาด

 

ดังนั้นจึงคาดว่ากำไรรวม Q2/66 ของธนาคารทั้ง 8 แห่ง ภายใต้การวิเคราะห์ของบล.เอเซีย พลัส ได้แก่ BAY ,BBL ,KBANK ,KKP ,KTB ,SCB ,TISCO และ TTB จะอยู่ที่ 5.89 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 0.3% QoQ และ 14.9% YoY ส่งผลให้มีกำไร H1/66 รวมเป็น 1.17 แสนลบ. โต 14.4% YoY อย่างไรก็ดีในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่แนะลงทุน KTB ,BBL ,SCB ,KBANK ตามลำดับ และธนาคารขนาดเล็กแนะลงทุน TISCO ,KKP ตามลำดับ

 

แนวโน้นกำไรสุทธิครึ่งปีหลัง ใน Q3/66 เติบโต YoY หนุนด้วย NIM ที่มีทิศทางสูงขึ้น ตามการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนสินเชื่อสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยภายใน 1  ปี สูงกว่าธนาคารขนาดเล็ก ขณะที่ QoQ ยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากการรับผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ช่วงเดือน มิ.ย. 66  เต็มไตรมาส และกรณีที่ กนง. เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมวันที่ 2 ส.ค. 66 เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของกําไร QoQ นอกจากนี้ความชัดเจนทางการเมืองจะช่วยกระตุ้นมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นจาก Q2/66 ที่ลงมาต่ำพอสมควร

 

ส่วนกําไรสุทธิใน Q4/66 คาดอ่อนตัวลง QoQ แม้กรณีที่ กนง. ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วง ส.ค. 66 แต่จะมาปรับรอบการประชุมวันที่ 27 ก.ย. 66 หรือ 29 พ.ย. 66 แทน เนื่องจาก Q4 เป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายเร่งตัวตามฤดูกาล โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ประกอบกับแนวโน้ม Credit Cost เพิ่มขึ้น  ทั้งจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้และโอกาสที่ธนาคารจะเพิ่มการสํารอง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในปีถัดไป

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon