วีซ่า ผนึกกำลัง SAP เพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินสำหรับองค์กรให้ดียิ่งขึ้น

83

มิติหุ้น – วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ประกาศความร่วมมือกับ SAP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซับซ้อนให้การชำระเงินแบบ B2B สำหรับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร  ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรกในโลก โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำที่ วีซ่า และ SAP หนึ่งในผู้นำตลาดซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันระดับองค์กรชั้นนำของโลกได้ผนึกกำลังเพื่อนำนวัตกรรมด้านการชำระเงินเข้ามาในอีโคซิสเต็มของ SAP ผ่าน SAP Business Technology Platform (SAP BTP)

บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกกว่า 99% เป็นลูกค้าของ SAP โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ วีซ่า และ SAP ในการวางรากฐานของบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded Finance) ในตลาด B2B ซึ่งช่วยผนวกกระบวนการการชำระเงินเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดย วีซ่า คาดว่าโอกาสในการเปลี่ยนกระแสการชำระเงินระหว่างองค์กร ให้เป็นดิจิทัลทั่วเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบันนั้นมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับ วีซ่า การประกาศความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจไปยังกลุ่ม B2B ด้วยการสนับสนุนการเคลื่อนที่ของเงินในขอบข่ายที่กว้างขึ้นไปยังการทำธุรกรรมระหว่างบุคคล ธุรกิจ และรัฐบาล นอกเหนือจากการจับจ่ายทั่วไปของผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์นี้ยังรวมถึงกระแสลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้า โซลูชันการชำระเงินสำหรับองค์กรผ่านบัตร  และการชำระเงินระหว่างประเทศ

สตีเฟน คาร์พิน ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวีซ่า กล่าวว่า “การเคลื่อนที่เงินกำลังกลายเป็นดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เท่าที่ผ่านมาเกิดในหมู่ผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญคือช่วยยกระดับการชำระเงินขององค์กรให้มีความทันสมัยและสร้างประสบการณ์การชำระเงินแบบ B2B ให้ดียิ่งขึ้น การร่วมมือกับ SAP ครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้การชำระเงินแบบ B2B ลดความซับซ้อนลงและใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้นจากการที่องค์กรต่างๆ สามารถทำการชำระได้ทันทีด้วยบัตรวีซ่าเพื่อธุรกิจบนแพลตฟอร์มของ SAP แทนที่จะต้องให้แต่ละองค์กรหาวิธีการชำระเงินที่ผู้ขายยอมรับ การชำระเงินแบบ B2B นั้นควรจะต้องง่ายต่อการใช้งาน รวดเร็ว และไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้เวลาและทรัพยากรกับเรื่องอื่นที่สำคัญต่อการสร้างธุรกิจ”

สตีเฟน คาร์พิน ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวีซ่า

สำหรับ SAP สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าที่ใช้ซอฟท์แวร์ของ SAP ในการดำเนินธุรกิจ การใช้บริการการชำระเงินของ Visa บนแพลตฟอร์ม SAP BTP เป็นการส่งมอบความสะดวกในบริการชำระเงินของวีซ่าให้แก่ลูกค้าของ SAP การทำให้ระบบชำระเงินเป็นอัตโนมัติยิ่งขึ้นจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเดินหน้าเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในขณะที่เรื่องของการชำระเงินก็สามารถทำได้อย่างปลอดภัยในเวลาที่รวดเร็ว

พอล แมริออท ประธานกรรมการ SAP ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ความร่วมมือของเรากับวีซ่าเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงและลดความซับซ้อนของกระบวนการชำระเงินแบบ B2B ทั้งยังช่วยให้ลูกค้าของพวกเราดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การฝังระบบชำระเงินของวีซ่าเข้าในอีโคซิสเต็มของ SAP เป็นไปเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนการค้าดิจิทัลให้เจริญรุดหน้า และยังสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรทั้งหลายตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไรให้สามารถทำการชำระเงินด้วยความปลอดภัยได้ในไม่กี่ขั้นตอน ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของขั้นตอนท้ายสุดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง”

โซลูชันการเงินแบบฝังตัวนี้จะเปิดให้บริการแก่ลูกค้า SAP ในประเทศออสเตรเลีย อินดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีแผนการที่จะขยายบริการไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต่อไป

Business Technology Platform ของ SAP (SAP BTP) คือนวัตกรรมแพลตฟอร์มที่รวบรวมแอปพลิเคชันของ SAP ด้านการข้อมูลและการวิเคราะห์ การบูรณาการ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไว้ด้วยกัน บนระบบคลาวด์ โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ทั้งวีซ่าและ SAP จะช่วยประสานช่องว่างของเงินทุนหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยชุดโปรแกรม Commercial & Money Movement Solutions ที่วีซ่าจะใช้แพลตฟอร์ม SAP BTP เป็นเส้นทางให้องค์กรชำระเงินแก่ซัพพลายเออร์ได้ไม่ว่าปลายทางจะรับการชำระด้วยบัตรหรือไม่ก็ตาม โซลูชันนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ถือบัตรวีซ่าสามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้รอยต่อและได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการใช้บัตรของวีซ่าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการชำระภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นยังช่วยเพิ่มความเป็นดิจิทัลและความรวดเร็วให้กับการชำระเงินแบบ B2B ทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานในเอเชียแปซิฟิก ผู้ประกอบการทั้งหลายในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มักจะขาดแคลนทรัพยากรการรับชำระเงินแบบ B2B ในรูปแบบดิจิทัล ที่ยังไม่ยอมรับการชำระด้วยบัตรเพื่อธุรกิจ  ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นความท้าทายให้กับธุรกิจที่รับชำระด้วยบัตรผ่านระบบดิจิทัลจากการที่พวกเขาหันไปใช้วิธีการชำระเงินแบบดั้งเดิมที่ต้องทำด้วยตนเองและสิ้นเปลืองเวลา เช่น การชำระด้วยเงินสดและเช็ค ทั้งยังกระทบต่อกระแสเงินสดทั้งฝั่งของผู้ชำระและซัพพลายเออร์เพราะการทำธุรกรรมผ่านวิธีชำระเงินแบบดั้งเดิมมักจะกินเวลานานกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon