จากสถานการณ์ “เอลนีโญ” ที่กำลังเกิดขึ้น ได้สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ ส่งผลให้ไทยที่เป็นประเทศทางการเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นฝนตกน้อยในบางพื้นที่ น้ำในอ่างกักเก็บน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ได้ผลผลิตที่น้อยลง อาจมีผลต่อรายได้ของเกษตรกร และทำให้กำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอลง
มูลค่าความเสียหายทางการเกษตร
แตะ 4.8 หมื่นลบ.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า “เอลนีโญ” จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประกอบด้วยข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ซึ่งมีความเสียหายรวมทั้งปีราว 4.8 หมื่นลบ. โดยเป็นความเสียหายของข้าวเป็นหลัก
อาจรุนแรงขึ้นและลากยาวถึง Q1/67 เป็นอย่างน้อย จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง คาดมูลค่าความเสียหายมากกว่าปี 66 ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทยที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ คงต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่สูง และอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งขึ้นอยู่การปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ
ชู 5 กลุ่มเด่นได้รับผลประโยชน์
ทางด้านบล.เอเซีย พลัส เผยว่า สถานการณ์ “เอลนีโญ” ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ คาดว่าอุณหภูมิจะค่อยๆ สูงขึ้นในปี 67 และจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติปี 59 และหากพิจารณาร่วมกับปริมาณน้ำสำรองในบ้านเราที่อยู่ระดับต่ำ อาจเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ภัยแล้งระยะต่อไปให้รุนแรงขึ้น แนะหุ้นได้-เสียประโยชน์ ดังนี้
หุ้นได้ประโยชน์
– กลุ่มอาหารสัตว์ ให้ ASIAN ยอดขายมีโอกาสเพิ่มจากสัตว์เลี้ยง จากการบริโภคอาหารและน้ำในช่วงแล้งที่สูงขึ้นได้
– กลุ่มอาหารครบวงจร ให้ CPF ซึ่งคาดส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้
– กลุ่มเครื่องดื่ม ให้ CBG หากอากาศร้อนขึ้นจะดีต่ออุปสงค์ธุรกิจเครื่องดื่ม
– กลุ่มธุรกิจน้ำดิบ น้ำประปา ให้ EASTW คาดในช่วงสั้นปริมาณน้ำสำรองในแหล่งเก็บน้ำจะยังคงมีเพียงพอต่อการบริหารจัดการ โดยภัยแล้งเป็นแรงหนุนให้ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำสำรองน้อยลง และหันมาเรียกซื้อน้ำกับทางผู้ประกอบการ น้ำดิบมากขึ้น
– กลุ่มการเงิน ให้ SAWAD,MTC
หุ้นเสียประโยชน์
– กลุ่มเกษตร ให้ STA,KSL,GFPT
– กลุ่มพลังงานน้ำ ให้ CKP
เป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ จากภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง และกำไรมีการลดลงเฉลี่ยในช่วงปี 58 -59 ซึ่งเป็นปีที่ “เอลนีโญ” แรงกว่าปกติ
เลี่ยงการลงทุนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
อาทิ กลุ่มเครื่องดื่ม,กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำ,กลุ่มเกษตรและอาหาร
ในส่วน InnovestX Research กล่าวว่า การลงทุนในช่วงภัยแล้งของไทยเป็นความเสี่ยงเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เนื่องจากโครงสร้างแรงงานไทยมาจากภาคเกษตรราว 40% ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้อาจส่งผลกับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจจะส่งผลกับภาคการผลิตอย่างกลุ่มสินค้าเกษตร ในส่วนของกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า มองว่าจะยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนเพียงพอ ซึ่งต้องติดตามปริมาณฝนในช่วง มิ.ย.-ต.ค.66 นี้ หากมีน้อยคาดจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วง Q1/67 เป็นต้นไป
กลยุทธ์การลงทุน มองปีนี้ไทยจะไม่ถึงขั้นประสบวิกฤตภัยแล้งหนัก แต่หากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้ไทยเข้าสู่ช่วงขาดฝนหรือมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงตั้งแต่ปลายปี 66 ถึง ปี 67 ซึ่งอาจกดดันผลประกอบการและกำไรของบางอุตสาหกรรม แนะนักลงทุนระยะกลางที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ระมัดระวังหรือเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มที่จะได้รับผลเชิงลบจากภัยแล้ง ที่มีกำลังซื้อลดลง ได้แก่
– กลุ่มพาณิชย์ มองส่งผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอลง อย่าง GLOBAL
– กลุ่มสินเชื่อ อย่าง MTC,SAWAD ที่มีลูกค้าเกษตรกร รวมทั้งอาจมีผลกดดันต่อการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อภาคเกษตร
– กลุ่มยานยนต์ มีผลกระทบทางตรงต่อการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีจำกัด และอาจมีผลต่อความต้องการรถยนต์จากกำลังซื้อที่ลดลง อย่าง SAT,STANLY
– กลุ่มเครื่องดื่ม คาดมีผลทำให้วัตถุดิบหลัก เช่น อ้อย น้ำตาล มีราคาสูงขึ้น ผลผลิตน้อยลง กระทบต่อต้นทุนการผลิต อย่าง CBG
– กลุ่มเกษตรและอาหาร ผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์มีจำกัด แต่อาจได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด ที่เพิ่มขึ้น อย่าง CPF,GFPT
– กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อย่าง CKP
ในขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ ให้หาจังหวะเก็งกำไร สำหรับหุ้นที่คาดได้รับผลบวกจากภัยแล้งอย่าง กลุ่มน้ำตาลและกลุ่มปาล์ม ส่วนกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ คาดจะไม่กระทบต่อการผลิตจากภาวะแล้งที่ไม่รุนแรง แต่หากภาวะแล้งรุนแรงกว่าคาด อาจทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon