PTT เปิดองค์ความรู้แห่งป่า ผลักดัน 3 ศูนย์เรียนรู้ สร้างจิตสำนึกรักษ์และดูแลป่าในใจคนไทย

168

มิติหุ้น – นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “ปลูกต้นไม้ เติมความรู้  มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านเวทีเสวนาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่าย ในการร่วมกันขับเคลื่อนการฟื้นฟู อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่ปี 2537 ปตท. ได้อาสาเข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ และโครงการปลูกฟื้นฟูอีกหลายโครงการจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกป่ารวม 1,167,913 ไร่ 582 แปลงปลูกครอบคลุม 56 จังหวัดทั่วประเทศ การดำเนินงานปลูกฟื้นฟูป่าอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษของ ปตท. ก่อให้เกิดองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่พร้อมแลกเปลี่ยน และแบ่งปันสู่สาธารณะ ในปี 2556 จึงได้จัดตั้ง “สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.” ขึ้น ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้พัฒนางานวิจัยด้านการปลูกและบำรุงรักษาป่า การสนับสนุนส่งเสริมการปลูกฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าของ ปตท. จำนวน 3 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจ ได้แก่

  • ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพมหานคร – ใช้แนวคิด “สร้างป่าให้กับคนกรุงเทพฯ” พลิกฟื้นผืนป่าจากพื้นที่ทิ้งขยะรกร้าง ด้วยการสร้างป่านิเวศ โดยการปลูกจำลองสังคมพืชป่าท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ถือเป็นแปลงปลูกป่าผืนแรกของ ปตท. ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร
  • ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง – พลิกฟื้นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว จากสภาพดินเสื่อมโทรม พัฒนาเป็นพื้นที่แปลงปลูกป่าเพื่อการศึกษาวิจัยหลากหลายรูปแบบ สู่การเป็นห้องเรียนธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของภาคตะวันออก รวมถึงต้นแบบของแปลงปลูกป่าคาร์บอนเครดิต
  • ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์ – เดิมเป็นแปลงปลูกป่า ปตท. ภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ กว่า 786 ไร่ พลิกฟื้นพื้นที่นากุ้งร้าง เป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศสังคมพืชป่าชายเลน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ ปตท. ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภายในงาน นอกจากการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้จาก 3 ศูนย์เรียนรู้ฯดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Workshop จากวัสดุธรรมชาติ อาทิ การทำน้ำยาล้างผัก การทำยาหม่องสามะง่า การทำที่คั่นหนังสือจากธรรมชาติ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของศูนย์การเรียนรู้ และการออกร้านขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนเครือข่ายที่ศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมสนับสนุน ช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ของชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์เรียนรู้

“ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ หนึ่งในพันธกิจหลักที่ ปตท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง เป็นพื้นที่รวบรวม ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกฟื้นฟูป่า ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย ปตท. ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ 3 เร่ง เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูก โดยได้เริ่มโครงการ ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกฟื้นผืนป่า เพื่อดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าให้กับประเทศอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2030 นี้” นายวรพงษ์ฯ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ทั้ง 3 แห่งของ ปตท. เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon