GPSC แจงกำไร Q2/66 อยู่ที่ 309 ลบ. คาดครึ่งปีหลังแนวโน้มต้นทุนพลังงานลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

79

มิติหุ้น – GPSC แจงผลประกอบการไตรมาส 2/2566 กำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับปีก่อน ชี้ปัจจัยหลักจาก โรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนงาน และผลการดำเนินงานของโครงการไซยะบุรีปรับตัวลดลงตามปริมาณน้ำที่ลดลงตามฤดูกาล รวมถึงกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า IPP ลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี มีการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนก๊าซธรรมชาติลดลง ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน AEPL เพิ่มขึ้นจากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2566 มีรายได้ทั้งสิ้น 23,056 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 309 ล้านบาท ลดลง 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นผลมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการไซยะบุรี (XPCL) ลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งในปีนี้ไม่มีการรับรู้กำไรจากรายการพิเศษจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นธุรกิจแบตเตอรี่เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ในขณะที่ผลการดำเนินการของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการปรับสูงขึ้นของค่า Ft ส่งผลให้มาร์จิ้น จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นายวรวัฒน์กล่าวว่า เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566  (QoQ)  กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 72%  เนื่องจากค่า Ft ปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566  แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวต้นทุนเชื้อเพลิงจะมีการปรับตัวลดลงบางส่วน ประกอบกับโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงาน ระยะที่ 5 มีการหยุดซ่อมบำรุง 25 วัน และโรงไฟฟ้า ศรีราชา และโกลว์ไอพีพี ไม่มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นไปตามแผนเรียกรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 997 ล้านบาท เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่า Ft ที่สอดคล้องกับต้นทุนราคาพลังงานมากขึ้น ทำให้มาร์จิ้นของการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมสูงขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับ 3.6% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกของไทยจะทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ ส่งผลให้มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon