GGC ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.10 บาท แม้สถานการณ์ตลาดกดดันกำไรครึ่งแรกของปี

75

มิติหุ้น – บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “GGC” ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.10 บาทต่อหุ้น แม้ว่าผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 7 ล้านบาท ซึ่งลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ประเมินภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 ฟื้นตัว รับ High Season ท่องเที่ยว หนุนการใช้งาน เมทิลเอสเทอร์-เอทานอล  เช่นเดียวกับแฟตตี้แอลกอฮอล์-กลีเซอรีน ที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นต้อนรับ รับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่  

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 9/2566 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ให้แก่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น โดยจ่ายจากกำไรสะสมส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรร ซึ่งผู้ถือหุ้นประเภทบุคคลธรรมดาสามารถเครดิตภาษีเงินปันผลได้ในอัตรา 20/80 (เสียภาษีในอัตรา 20%) ถึงแม้ว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการขายทั้งสิ้น 4,744 ล้านบาท ลดลง 37% จากปีก่อน จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาวัตถุดิบที่ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ปัจจัยค่าเงินที่แข็งค่าในแถบเอเชีย และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการเตรียมพร้อม วางแผนการดำเนินงานธุรกิจ เพื่อรับมือกับอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ไว้ ทำให้ไตรมาส 2/2566 นี้ ยังคงสามารถปิดกำไรสุทธิเป็นบวกได้ที่ 7 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มตลาดและธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่า ความต้องการใช้ เมทิลเอสเทอร์ หรือ B100 น่าจะทรงตัว เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 3 นี้ จะเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไม่สูงมากนัก แต่คาดว่า อาจจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว

ขณะที่ความต้องการใช้ แฟตตี้แอลกอฮอล์  มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากครึ่งแรกของปี 2566 แม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ตลาดโลกต่างๆ โดยคาดว่า กลุ่มผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care) โดยเฉพาะผู้ผลิตครีมบำรุงผิว อาจจะเริ่มกลับมาซื้อ แฟตตี้แอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าก่อนเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาสและเทศกาลวันปีใหม่

ในฝั่งความต้องการใช้ กลีเซอรีน มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับการที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาล High Season ของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย เช่นเดียวกันกับเอทานอล ที่คาดว่า มีแนวโน้มความต้องการใช้ที่ฟื้นตัว เนื่องจากจากไตรมาสที่ 4 ของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่า ส่งผลให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นด้วย

 อุปสงค์ความต้องการใช้เมทิลเอสเทอร์ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่วนอุปทานของตลาดเมทิลเอสเทอร์ยังคงทรงตัว เพราะไม่มีการผลิตเพิ่มเข้ามา โดย GGC ประเมินอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ของอุตสาหกรรมจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 50% จากระดับราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ (CPO-DIT)

ส่วน แฟตตี้แอลกอฮอล์จากธรรมชาติ (Natural Fatty Alcohols) คาดว่าความต้องการใช้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 แม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันต่อกำลังซื้อจากความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย และความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาซื้อสินค้าเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังมากขึ้น หลังจากราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มมีการสต็อกสินค้า เพื่อสำรองไว้ใช้ในการผลิตสินค้าสำหรับงานกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ในช่วงวันที่ 23 กันยายน – 8 ตุลาคม 2566 อีกทั้งในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาล High Season ของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care) โดยเฉพาะผู้ผลิตครีมบำรุงผิวที่มีความต้องการใช้ Long Chain แอลกอฮอล์ในช่วงฤดูหนาวมากขึ้น และผู้ผลิตน้ำหอมที่มีความต้องการใช้ Short Chain แอลกอฮอล์ เพื่อเตรียมสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลวันปีใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการซื้อ  ในตลาดผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่อุปทานโดยรวมของอุตสาหกรรมแฟตตี้แอลกอฮอล์ คาดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่หลายราย หยุดดำเนินการผลิตชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุง และมีการลดกำลังการผลิตลง ให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และราคาขายคาดว่ามีแนวโน้มทรงตัว เป็นไปตามราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPKO) ที่ทรงตัว

ส่วน กลีเซอรีน มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับความต้องการ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาล High Season ของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ส่วนนอุปทานโดยรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์หลายราย กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ

ขณะที่ เอทานอล ความต้องการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากจากไตรมาสที่ 4 ของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ส่วนอุปทานของตลาดเอทานอลแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากยังไม่มีการขยายกำลังการผลิตจากผู้ผลิตรายเดิม และผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาด ส่วนราคาขายอาจจะมีการปรับตัวลงเล็กน้อย จากราคาวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล อาทิ มันเส้นที่เริ่มปรับตัวลดลง

สำหรับผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวมทั้งหมด 4,744 ล้านบาท ลดลง 37% (YoY)และมี Adjusted EBITDA จำนวน 144 ล้านบาท ลดลง 82% (YoY) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจาก Stock Gain & NRV จำนวน 5 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 2/ 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 7 ล้านบาท (0.01 บาท/หุ้น) ลดลง 415 ล้านบาท หรือ 98% (YoY) ส่วนของผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย จำนวน 9,406 ล้านบาท ลดลง 37% (YoY) โดยรับรู้ EBITDA จำนวน 297 ล้านบาท ลดลง 78% และมี Adjusted EBITDA จำนวน 425 ล้านบาท ลดลง 66%(YoY) ทำให้ครึ่งปีแรก 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 47 ล้านบาท ลดลง 862 ล้านบาท หรือลดลง95%

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon