PIMCO เผยตลาดโลกอยู่ในช่วงที่มีความผันผวนสูง เมื่อนโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือการทำ QE และมาตรการอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์มีแนวโน้มจะจบลง ผู้นำด้านการลงทุนตราสารหนี้ระดับโลกเริ่มกลับไปมองหาการลงทุนที่มีคุณภาพสูงและมีสภาพคล่องมากขึ้น

135

มิติหุ้น – ตลาดโลกมีแนวโน้มตกอยู่ในช่วงสภาวะตลาดผันผวนสูง ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง PIMCO บริษัทจัดการการลงทุนตราสารหนี้ชั้นนำระดับโลก ได้คาดการณ์ไว้ในรายงาน Secular Outlook: The Aftershock Economy ครั้งล่าสุด ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญสำหรับตลาดและเศรษฐกิจโลกในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

รายงานฉบับนี้เขียนโดย ริชาร์ด คลาริดา (Richard Clarida) ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจโลกของ PIMCO แอนดรูว์ บอลล์ (Andrew Balls) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนตราสารหนี้ระดับโลก และแดน อิวาสซิน (Dan Ivascyn) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ PIMCO จากรายงานกล่าวว่า โลกได้เผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจการเงินอย่างเฉียบพลัน อีกทั้งยังประสบกับความสั่นคลอนจากสภาพภูมิศาสตร์การเมืองโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง “จะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผลกระทบที่ส่งผลอย่างเต็มรูปแบบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น”

จากรายงาน กล่าวว่า “หลังวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางเริ่มตระหนักว่านโยบายการเงินนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policies) หรือนโนบาย QE นั้น ทำให้ต้องแบกรับทั้งภาระต้นทุนและการส่งมอบผลกำไร ในขณะที่อัตราหนี้ภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้น มีแนวโน้มที่ทำให้การรับมือทางการคลังมีข้อจำกัดในการช่วยผ่อนคลายภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอนาคต”

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยกระดับมาตรฐานของต้นทุนการกู้ยืม (Borrowing Costs) ที่ 5.25-5.5% ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 22 ปี

PIMCO คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะคงไว้ซึ่งกรอบนโนบายเงินเฟ้อแบบกำหนดเป้า (Inflation Targets) ตามแบบที่ทำอยู่ โดยจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการรักษาอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น

ในรายงานกล่าวว่า “เราเชื่อว่าธนาคารกลางจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะคงอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตั้งไว้” และยังกล่าวอีกว่า “เราไม่ได้คาดหวังว่าธนาคารกลางในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว จะปรับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอย่างเป็นทางการ แต่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่อยู่ในระดับ 2% อาจสามารถแตะระดับ “2 กว่า ๆ” ได้ เมื่อเทียบกับฐานของเรา เรามองว่าความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น”

ตราสารหนี้พื้นฐานและตราสารหนี้คุณภาพสูงเป็นการลงทุนที่น่าจับตามอง
PIMCO กล่าวว่า เมื่อนโยบายผ่อนคลายการเงิน หรือ QE อัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ศูนย์ ตลอดจนการเข้าแทรกแซง ความผันผวนของธนาคารกลางมีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลง บริษัทจึงแนะนำนักลงทุนให้ “หันไปมองการลงทุนที่มีแนวโน้มว่าจะมีคุณภาพสูง และมีสภาพคล่องมากกว่าในระยะยาว แต่ต้องระมัดระวังการลงทุนในส่วนที่ยังมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

จากรายงาน พบว่า “พอได้เห็นว่า ตราสารหนี้คุณภาพสูง (High-quality Bonds) มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเริ่มต้น (Starting Yield) ที่เพิ่มขึ้นสูงในปีที่ผ่านมา การลงทุนตราสารหนี้คุณภาพสูง (High-quality Bonds) สามารถมอบผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากตราสารทุน (Equity) การลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงมีความผันผวนในระดับที่น้อยกว่า และมีการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงที่มากกว่าตราสารทุน” ซึ่งอาจช่วยให้นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตโฟลิโออย่างรอบคอบ และมีความยืดหยุ่น (Resilient Portfolios) โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับการขึ้นราคาหุ้น (Upside Potential)

นอกจากนี้ PIMCO ยังคาดการณ์ถึงโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Markets) มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมองจากฉากทัศน์การปรับเปลี่ยนของวงการธนาคารในภาพรวม

ทั้งนี้ การลงทุนผ่านการปล่อยกู้ (Private Credit) ยังสามารถทำกำไรจากการ “สั่นคลอน” ในวงการธนาคารที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า “เราคาดว่าการลงทุนในด้านนี้ยังมีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว ทั้งสำหรับ Private Lending กับทั้งการลงทุนที่หวังทำกำไรตามโอกาส (Opportunistic Investment)”

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีอิทธิพล และสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (EM) คือการกระจายความเสี่ยง
PIMCO เชื่อว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงสถานะเป็นสกุลเงินหลักของโลก แม้ว่าช่องว่างทางการคลังของสหรัฐจะกว้างขึ้นและภาระหนี้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังคงมีโอกาสในการลงทุนอยู่ทั่วไป

รายงานระบุว่า “หนึ่งในเงื่อนไขของการเป็นสกุลเงินสำรองของโลกคือเมื่อโลกเกิดตกอยู่ในภาวะวิกฤต คนมักอยากจะซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง เงินดอลลาร์สหรัฐจะได้รับผลกระทบจากวัฏจักรหมุนเวียนของกระแสเงินทุน และเมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดยเฉพาะตลาดที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลประโยชน์จากเทรนด์การย้ายฐานการผลิตเป็นแบบในประเทศ (Onshoring) หรือกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมืองเท่านั้น (Friend-shoring)”

ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) สำหรับเศรษฐกิจโลกจะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ปัจจัยหลักต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดเกิดใหม่นี้มีหลายอย่าง รวมถึงภาวะโลกาภิวัฒน์ของการส่งมอบบริการ (Globalization of Services) ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการค้าที่เลือกย้ายการดำเนินงานมาอยู่ในประเทศที่ใกล้เคียง (Nearshoring) และกลยุทธ์ทางการค้าที่เลือกทำธุรกิจเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมืองเท่านั้น (Friend-shoring) นอกจากนั้น ปัจจัยที่ส่งผลยังมาจากการแข่งขันในด้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น แร่ลิเธียม (Lithium) แร่โคบอลต์ (Cobalt) และแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) และตลอดจนกระบวนทัศน์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (Green Transition)” รายงานกล่าวอีกว่า “ปัจจัยหลักนี้จะสร้างความหลากหลายให้กับตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่สามารถกระจายความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอการลงทุนในระดับตลาดโลก

รายงาน Secular Outlook โดย PIMCO จัดทำขึ้นจากงานสัมมนาออนไลน์ Secular Forum ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับมืออาชีพจากทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อระบุถึงแนวโน้มที่มีความสำคัญต่อการลงทุน และมีผลต่อการจัดการพอร์ตโฟลิโอของการลงทุน

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon