มิติหุ้น – ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น กระตุ้นให้ทั่วโลก ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทุกคน ต่างต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ MSMEs ในประเทศไทย มากกว่า 3 ล้านรายส่วนใหญ่นำโดยผู้หญิง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของกลุ่มผู้ประกอบการหญิงที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนการดำเนินธุรกิจ
ยูโอบี ประเทศไทย และ เดอะ ฟินแล็บ ประเทศไทย พร้อมด้วยพันธมิตรจากหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่รวมตัวกันในโครงการ Womenpreneur: Tech and Sustainability เพื่อมอบความรู้และทักษะ พร้อมโซลูชันดิจิทัล ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการหญิงในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนความรู้ คำปรึกษาและเครื่องมือให้ผู้ประกอบการหญิงนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังนี้
คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการว่า การสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ ประกอบด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่ Management & Strategy ประกอบด้วย Sustainable Governance (การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน), Corruption (คอร์รัปชั่น), Sustainable Strategy (กลยุทธ์ความยั่งยืน), R&D, Risk Management (การบริหารความเสี่ยง) Environment ได้แก่ Energy costs (ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน), GHG Intensity (การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก), Water Scarcity (การขาดแคลนน้ำ), Pollution Prevention (การป้องกันมลพิษ) และ Social Management ประกอบด้วย Labor Relation (แรงงานสัมพันธ์), HR Capabilities (ความสามารถของ HR), License to Operate (ใบอนุญาตให้ดำเนินการ), Aging Society (สังคมสูงอายุ), Supply Chain Liability (ความสูญหายและเสียหายในห่วงโซ่อุปทาน)
“สวทช. สนับสนุนขับเคลื่อนSMEs ไทย เดินเข้าสู่ธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกลสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขัน เข้าถึง Sustaining Innovation หรือนวัตกรรมที่ยั่งยืน พบเจอในชีวิตประจำวัน ปรับปรุงสิ่งที่เป็นอยู่ เข้าถึงสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน รู้ปัญหาที่แท้จริง สัมผัสกับปัญหาโดยตรง และมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยพยายามแก้ให้ตรงจุด ครบวงจร ทั้งการเงิน ภาษี ถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และการเปิดตลาดต่อยอด ผลักดันผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจทั่วไปและ Tech firm ให้เข้าบัญชีนวัตกรรมไทย มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออกขายในทุกภาคส่วน รวมถึงการทำ Business Matching อีกด้วย”
คุณอลิสรา ศิวยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต้นแบบความยั่งยืน ย่านเพลินจิตใจพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครฯ ที่เน้นพันธกิจความสมดุล ของ 3 Ps : Profit / People/ Planet มาใช้บริหารธุรกิจด้วยการไม่มุ่งเน้นแค่กำไร แต่ใช้แนวคิด ให้ธุรกิจมีผลกำไรเพื่อองค์กรอยู่ได้ ควบคู่ไปกับการเกื้อกูลผู้คน พนักงาน คู่ค้า ชุมชม ในวิถีที่เป็นมิตร ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มีความสมดุล ได้ตอกย้ำเนื้อหาที่สำคัญว่า “องค์ประกอบทั้ง 3 แกนหลักนี้ คือจุดขับเคลื่อนให้โรงแรมประสบความสำเร็จสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บุคลากร คือความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ เนื่องจากพวกเขาอาจมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนต่อแนวทางความยั่งยืน ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงสุดจะต้องมีความชัดเจนในการดำเนินการและมีการสื่อสารลงไปยังบุคลากรว่าแบรนด์จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง ลำดับต่อมาคือต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรอยากมีส่วนร่วม”
คุณสันทัด ศรีจารุพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนองค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่าจากผลสำรวจของ UOB Business Outlook Study 2023 ผู้ประกอบการในประเทศไทยร้อยละ 96 เห็นความสำคัญของความยั่งยืนทางธุรกิจ และร้อยละ 51 เริ่มนำแนวทางของความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายข้อกังวลในการเดินสู่เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุนสินค้าและบริการที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการที่จะต้องนำเทคโนโลยีที่ส่งเสริมด้านความยั่งยืนมาใช้
“ผู้ประกอบการ ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องการได้รับการสนับสนุนทั้งในเรื่องของภาษี การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยในเรื่องการทำด้านความยั่งยืน การได้เรียนรู้ best practices ต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ และการเข้าถึงเงินบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนอกจากยูโอบี ประเทศไทย จะให้ความรู้ด้านความยั่งยืนและเชื่อมโยงให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะแล้ว ยังมีโซลูชันด้านการเงินต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนได้อีกด้วย อาทิ U-Drive สำหรับระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน U-Energy เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคาร ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ U-Solar ที่สนับสนุนระบบนิเวศของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์”
ขณะที่ คุณปรัชญ์ชนรรทน์ นิธิวาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ มัลติพลาย จำกัด ผู้พัฒนาระบบ MEWE เครื่องมือการตลาดที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ วัดผลและเรียนรู้ด้วยเทคนิคทันสมัย มาช่วยยกระดับขีดความสามารถของทีมขาย ที่องค์กรต้องใช้ data ที่เป็นของตนเองมาวิเคราะห์ ทำให้ธุรกิจสามารถคัดกรองลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด จนสามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์แก่พวกเขา เพื่อก้าวข้ามไปสู่การสร้าง brand loyalty ของลูกค้า
“หัวใจของ SMEs ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนคือการแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน การมองหาพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนธุรกิจที่พร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน และร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจขึ้นมา โดยระบบนิเวศดังกล่าว คือกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ส่งเสริมกันในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า ในทุกๆวิถี อาทิ การรวบรวมสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น, การหาช่องทางที่ดีกว่าเพื่อตลาดที่ใหญ่ขึ้น กล่าวคือ SME ในปัจจุบันจะขยายองค์กรให้ธุรกิจอยู่รอดและยั่งยืนได้ ต้องมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งมีเป้าหมายเติบโตร่วมกัน ตลอดจนเพิ่มช่องทางรายได้ในทุกทิศทางของความร่วมมือ”
โครงการ Womenpreneur Tech and Sustainability เป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของธนาคารยูโอบีในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและดำเนินบนแนวทางความยั่งยืน โดยให้การสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ที่ช่วยในการต่อยอดธุรกิจแก่ผู้ประกอบการสตรีที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมเครื่องมือทางดิจิทัล และการสนับสนุนในด้านการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการสตรีเข้าด้วยกันและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจได้
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon