กสิกรไทย เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมหนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว ด้วยโซลูชันหลากหลายเจาะรายธุรกิจ ครึ่งแรกปี 2566 ดันเม็ดเงินความยั่งยืนไปแล้วกว่า 19,400 ล้านบาท

170

มิติหุ้น – นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า  จากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2566 ที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรไทยกว่า 48,000 ล้านบาท สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวเพื่อตอบรับมาตรการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ การประกาศ Thailand Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของไทยที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้นเพื่อการปรับตัวมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียู เริ่มเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ก็มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลทั้งจากนักลงทุนทั่วไป Venture Capital ธนาคาร และสถาบันการเงิน

ธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งปรับการทำงานของธนาคารเอง และการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยอาศัยความสามารถหลัก (Key Capabilities) ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ การสร้างระบบพื้นฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและลูกค้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมอันดีทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้

  • เป้าหมายเรื่องการเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เป็นศูนย์ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานด้านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน กระบวนการทำงาน และการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
  • การทยอยเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 175 คัน ในปี 2566 และจะทำการเปลี่ยนรถยนต์จนครบทั้งหมดก่อนปี 2573 การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และปัจจุบัน ธนาคารได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่อาคารสำนักงานหลักของธนาคารครบทั้ง 7 แห่ง และพื้นที่สาขา 7 สาขา โดยตั้งเป้าไว้จะทยอยติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ครบทุกสาขาที่เป็นพื้นที่ของธนาคารรวม 278 แห่ง ภายใน 2 ปีข้างหน้า
  • การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรฐานการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ของธนาคารให้เป็นงานปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event)
  • การจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ สำหรับ 4 อาคาร ภายในปี 2566 นี้ โดยธนาคารติดตั้งถังขยะคัดแยกขยะ 6 ชนิดหลัก พร้อมกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสุดท้าย ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้วัสดุถูกนำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ลดการผลิตใหม่ซึ่งเป็นต้นทางของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • เป้าหมายเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศไทย ผลการทำงานครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) รวมเป็น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มถ่านหิน และกลุ่มซีเมนต์ นอกจากนี้ ธนาคารจะเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยธุรกิจวางแผนงาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสแก่ธุรกิจด้วยเครื่องมือและโซลูชันหลากหลายตอบโจทย์แบบเจาะลึกรายธุรกิจ ควบคู่กับการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจให้ปรับตัวสอดรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ESG) รวมทั้งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้
  • เป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) ผลการทำงานครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารส่งมอบเม็ดเงินส่วนนี้ไปแล้วรวมกว่า 19,400 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อสีเขียวสำหรับลูกค้าในไทยและภูมิภาค AEC+3 สินเชื่อเพื่อการประหยัดพลังงาน และเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการลงทุนโดยบีคอน วีซี ผ่าน Beacon Impact Fund ที่มุ่งเน้นการลงทุนโดยตรงในบริษัทสตาร์ทอัพหรือผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโซลูชั่นสร้างผลกระทบเชิงบวก พร้อมศักยภาพที่จะขยายผลไปในวงกว้าง ทั้งนี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนทั้งปี 2566 ที่ 25,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายระยะยาว เป็นยอดรวมที่ 1-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573
  • การพัฒนาบริการ Beyond Financial Solutions ที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงินเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้น ผลการทำงานในครึ่งแรกปี 2566 ธนาคารมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโซลูชันเพื่อส่งเสริมเรื่องการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคที่อยู่อาศัย โดยธนาคารได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) พัฒนาแอปพลิเคชัน “ปันไฟ” ผู้ช่วยจัดสรรไฟอัจฉริยะที่ช่วยให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาคืนทุนได้เร็วขึ้น รวมทั้งการส่งเสริม EV Bike Ecosystem โดยธนาคารอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการเช่าใช้งานผ่าน K PLUS Market และให้บริการจุดเปลี่ยนแบตเตอรีที่สาขาของธนาคาร ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง

นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคาร เป็น 1 ใน 3 มิติของการทำงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ที่ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และธนาคารมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ จึงขอให้ทุกคนร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่ความสำเร็จไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ความอยู่รอดในวันนี้ แต่หมายถึงการตอบรับโอกาสที่จะเติบโตในระยะยาว และสร้างโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon