มิติหุ้น – Fact – check หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นกระบวนการสำคัญเพื่อให้ได้ “ข้อเท็จจริง” ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมายจนยากจะแยกแยะว่าอะไรจริงหรือเท็จ การตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงสูงให้ตระหนักถึงความสำคัญว่าก่อนแชร์ข้อมูลข่าวสาร ต้องแน่ใจว่า ข้อมูลนั้น “เป็นจริง” และ “เป็นประโยชน์”
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ “MCOT Cares X ชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อชุมชน” โดยแบ่งปันความรู้เรื่องการรู้เท่าทันข่าวปลอม เทคนิคในการสังเกต และตรวจสอบ ให้กับศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้(ศสกร.) เขตห้วยขวาง จำนวน 80 คน ชุมชนใกล้เคียง อสมท ให้มีทักษะในการเป็น “นักตรวจสอบข้อเท็จจริง” ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้”
โย – นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ และผู้ดำเนิน “รายการชัวร์ก่อนแชร์” กล่าวว่า “ข้อมูลเท็จที่แพร่หลายในสื่อออนไลน์ในประเทศไทยมีมากมายหลายหัวข้อ แต่ที่มากถึงร้อยละ 80 ของข้อมูลที่ส่งต่อกัน คือ เนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร โรคภัยต่างๆโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิต หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังมีหัวข้อเกี่ยวกับข่าวด่วน เตือนภัยพิบัติ กฎหมาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเงิน การเมือง ศาสนา ความขัดแย้ง ข่าวด่วน เรื่องแปลก ฯลฯ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและความสนใจของสังคม จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท พบประเด็นที่น่าสนใจของข้อมูลที่มีการส่งต่ออย่างแพร่หลาย อาทิ
- เกิดขึ้นจากหลากหลายเหตุผลต้นตอ ทั้งการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความรู้ความเข้าใจ เจตนาบิดเบือนข้อมูล และสร้างข้อมูลเท็จ
- ข้อมูลเท็จหลายชิ้นแปลหรือนำมาจากต่างประเทศ มีทั้งแบบผิดตั้งแต่ต้นทาง กับเกิดการผิดพลาด ในขั้นตอนทำเนื้อหาเป็นภาษาไทย
- มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เนื่องจากข้อมูลทางดิจิทัลสามารถถูกปรับแก้ไขได้ในทุกขั้นตอน
ดังนั้น ก่อนเริ่มขั้นตอนตรวจสอบ การฉุกคิดสงสัยในข้อมูลข่าวสาร คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญก่อนดำเนินการ
ตรวจสอบข้อเท็จจริง 5 คำถาม ถามหาข่าวปลอม จริงมั๊ย?? เก่ามั๊ย?? เกี่ยวมั๊ย?? ครบมั๊ย?? อคติมั๊ย?? ”
Fact – check ง่ายๆ … ด้วย 3 เสาหลัก ดักข่าวลวง
สืบหาต้นตอ แหล่งกำเนิดของเนื้อหา
วิเคราะห์ที่มา เจตนาของแหล่งข้อมูลที่เผยแพร่เนื้อหา
ตรวจสอบเนื้อหา ชุดข้อมูลหรือสารที่บรรจุอยู่ภายในเนื้อหา
น้องๆ เยาวชนจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (ศสกร.) เขตห้วยขวาง เล่าถึงความประทับใจจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เริ่มจาก น้องแตงโม – นางสาวศศิมณฑล ศรีประสิทธิ์ อายุ 19 ปี “เรื่องที่ชวนให้ถูกหลอกลวงที่ตนเองและเพื่อนๆพบมากที่สุด คือ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการกดลิงค์ให้รับเงิน ซึ่งเป็นภัยที่แพร่ระบาดอย่างมากในโลกออนไลน์ การได้รับความรู้เรื่องการรู้เท่าทันข่าวปลอมและลองคิดวิเคราะห์ ใช้เครื่องมือตรวจสอบ จากสื่อตัวจริงของ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ทำให้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลข่าวสารและรู้เท่าทันกลลวงได้เป็นอย่างดี”
น้องฟรี – นายลิปปกร บุญชื่น อายุ 19 ปี “พลังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นประโยชน์กับการตรวจสอบข่าวปลอม คือ มีความอยากรู้ในการสืบหาข้อเท็จจริง และรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการค้นหาคำตอบ อยากฝากถึงเพื่อนๆ ว่าข่าวสารในโซเชียลมีเดียแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสงสัยให้ตรวจสอบ เช็คให้ดีก่อนเชื่อและเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์”
น้องไมค์ – นายไม้เมือง เอี่ยมเวช อายุ 23 ปี “นอกจากตัวเองที่จะต้องคอยตรวจสอบข้อมูลเพื่อป้องกันการถูกหลอกแล้ว คนในครอบครัวซึ่งเป็นผู้สูงวัยต้องมีความรู้เพื่อให้รู้เท่าทันข่าวปลอมและภัยไซเบอร์ด้วยเช่นกัน เบื้องต้นควรแนะนำการใช้เครื่องมือง่ายๆ ในการสืบค้นข้อมูล ตั้งข้อสงสัยหรือคำถาม ไม่เชื่ออะไรโดยง่าย หรือบุตรหลานต้องช่วยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด สำหรับการอบรมในวันนี้ จะนำทักษะความรู้ที่ได้รับ ไปสื่อสารกับชุมชนและสังคมต่อไป”
MCOT Cares ยังมุ่งเสริมสร้างคุณค่าทางสังคม ด้วยการส่งมอบข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อสังคมของสื่อในเครือ อสมท ทุกช่องทาง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ตามแนวทาง “สื่อดี สังคมดี”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon