สวพส. เดินหน้าจับมือภาคเอกชน เตรียมแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาการเผา และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บนพื้นที่สูง

70

มิติหุ้น – สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำโดย นายวิชัย  ทองแตง นักธุรกิจ และนักลงทุนระดับประเทศ  นายชวลิต  ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ให้เกียรติร่วมเปิดการประชุมเพื่อร่วมวางแผนบูรณาการ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บนพื้นที่สูง ส่งเสริมด้านอาชีพ ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง เพิ่มช่องทางการตลาดผลผลิต ปรับเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เกิดรายได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบนพื้นที่สูงและประเทศชาติต่อไปในอนาคต นำไปสู่การลดอัตราการเกิดจุดร้อน (Hotspot) บนพื้นที่สูงได้ โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 นายอำเภอแม่แจ่ม และอบต.แม่นาจร ร่วมเป็นสักขีพยานและประชุมบูรณาการแผนร่วมกัน  ณ เรือนกล้วยไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นายชวลิต  ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การลดปัญหาการเผาในภาคเกษตร สวพส. ได้นำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในชุมชนบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง ปรับระบบการปลูกพืชอย่างประณีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ 50 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท ในขณะที่ปลูกพืชผักในโรงเรือนตามองค์ความรู้จากโครงการหลวงบนพื้นที่ 0.5 ไร่ เกษตรกรสร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท เช่นเดียวกัน แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า วิธีนี้จะช่วยลดอัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าช่วงปี 2565 มีจุดความร้อนน้อยกว่าปี 2564 ถึง 1,629 จุด และในช่วง 1 มกราคม-31 มีนาคม 2566 เกิดจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 4,118 จุด คิดเป็นร้อยละ 6 ของการเกิดจุดความร้อนของพื้นที่12 จังหวัดที่มีโครงการตั้งอยู่ ที่เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 67,861 จุด

นอกจากนี้การปรับระบบการเกษตร ทำให้ชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงในไม่มีปัญหาการเผา 100% โดยได้รางวัล “ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา” จากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2555 และยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 ชื่อผลงาน เลื่องลือขยายงาน บ้านปางแดงใน ต้นแบบต่อยอด Towards SDGs  ปัจจุบันชุมชนบ้านปางแดงในเป็นแหล่งเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชที่ยั่งยืน โดยชุมชนมีเกษตรกรผู้นำรวม 15 ราย ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนากับ สวพส. รวมถึงการเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ มีแปลงเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชของเกษตรกร

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประกอบกับมีช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตทั้งครอบครัว เกษตรกรกลับมาดูแล บำรุงรักษาและพัฒนาป่า ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการใช้แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการกำหนดขอบเขตที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ป่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหมอกควันในระยะยาว

และเพื่อเป็นการริเริ่มการขับเคลื่อน จึงได้มีการลงนามร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับภาคเอกชน  ประกอบด้วย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด บริษัท กรีน สแตนดาร์ด จำกัด และบริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด

ในการนี้ จึงเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บนพื้นที่สูง โดยตั้งเป้าลดจุด Hotspot ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ให้คนและป่าอยู่ร่วมกันเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon