TRT ยืนเป้ารายได้ปีนี้ 2.3 พันลบ. คว้างานกฟน. 524 ลบ. คาดส่งมอบ Q4 ปีนี้

177

มิติหุ้น-TRT ประเดิมครึ่งปีหลังคว้างานการไฟฟ้านครหลวงผลิตหม้อแปลงขนาดเล็ก ในสัญญาซื้อขายหม้อแปลงจำหน่ายชนิดซีเอสพี (Completely Self-Protected Type) 3 เฟส 4 สาย 50 เฮิรตซ์ 225 กิโลโวลต์แอมแปร์แรงดันด้านปฐมภูมิ 24 กิโลโวลต์ แรงดันด้านทุติยภูมิ 416/240 โวลต์ จำนวน 578 ชุด ตามสัญญาเลขที่ MP6-8975-BGA มูลค่างานกว่า 523.8 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ให้มีเสถียรภาพในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าหลวง คาดพร้อมส่งมอบงานภายใน Q4/66 นี้แน่นอน

 นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด ของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า เป้าหมายรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะทำได้ 2,314 ล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีรายได้เพียง 804.6 ล้านบาทก็ตาม แต่ทิศทางธุรกิจในช่วงไตรมาส 3 เริ่มฟื้นตัวและมีแนวโน้มเป็นบวก ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตมากที่สุด ประกอบกับการที่บริษัทมีงานในมือ โดยเฉพาะงานจากหน่วยงานภาครัฐที่จะส่งมอบมากถึง 1,100 ล้านบาท และยังคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานที่ยังอยู่ระหว่างการติดตามงานประมูลเพิ่มเติมอีกกว่า 11,748 ล้านบาท ซึ่งปกติจะมีโอกาสประสบความสำเร็จจากการได้งานประมาณ 20-25% จะเข้ามาช่วยเสริมทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กกับการไฟฟ้านครหลวง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามสัญญาเลขที่ MP6-8975-BGA ในการสั่งซื้อหม้อแปลงจำหน่ายชนิดซีเอสพี (Completely Self-Protected Type) 3 เฟส 4 สาย 50 เฮิรตซ์ 225 กิโลโวลต์แอมแปร์แรงดันด้านปฐมภูมิ 24 กิโลโวลต์ แรงดันด้านทุติยภูมิ 416/240 โวลต์ จำนวน 578 ชุด ด้วยมูลค่างาน 523,835,620.00 บาท

ในสัญญาซื้อขายครั้งนี้ เป็นคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย เพื่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่จะใช้ในการติดตั้งในเขต กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ยังได้รับคำสั่งซื้อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 KV Power Transformer จำนวน 14 เครื่อง โดยใช้ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาทอีกด้วย

ทางด้าน นายสมชาย หอมกลิ่นแก้ว รองผู้ว่าการวางแผนและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. กล่าวว่า  รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายหม้อแปลงจำหน่าย ชนิดชีเอสพี (Completely Self-Protected Type) ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าได้มีคุณภาพ ซึ่ง กฟน.ในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เราตระหนักดีว่า ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องพัฒนาระบบไฟฟ้า เสริมสร้างเสถียรภาพในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของการไฟฟ้านครหลวงที่ว่า “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร”

การที่บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จในการประกวครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้เรามีความมั่นใจในการจัดซื้อครั้งนี้

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/