มิติหุ้น – บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย หรือ AMARC (เอมาร์ค) เผยแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง การเติบโตของภาคเอกชนทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และบริการสอบเทียบ มีทิศทางสดใส จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกษตร-อาหารฟื้นตัว งานภาครัฐเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส 3/66 พร้อมเดินหน้าเปิดศูนย์บริการตามหัวเมืองต่างจังหวัดในเดือนตุลาคม ปี 2566 นี้ ดีเดย์ที่ จ.ลำพูน เพื่อขยายตลาดในภาคเหนือ ชู 3 กลยุทธ์การเติบโตมุ่งสู่การเป็นแล็บชั้นนำระดับสากล ล่าสุดผนึกพันธมิตรจัดตั้ง 2 บริษัทย่อย คือ บริษัท วีกรีน เคยู จำกัด และ บริษัท เอมาร์ค โกลบอล เวริฟิเคชั่น จำกัด เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท
นายศักดา ฉันทนาวานิช ผู้อำนวยการสายบริหาร บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMARC (เอมาร์ค) เปิดเผยว่าแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่ามีทิศทางการเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยภาพรวมการเติบโตของภาคเอกชน ทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และบริการสอบเทียบ ขณะนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกษตรและอาหารกลับมาเติบโต ถือเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโตของบริษัท โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ลูกค้าหลักของ AMARC เป็นภาคเอกชน 93% ภาครัฐ 7% คาดว่างบประมาณใหม่การใช้จ่ายภาครัฐจะกลับมาเป็นปกติ เป็นปัจจัยบวกให้กลุ่มลูกค้าภาครัฐกลับมาใช้บริการ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/66 งานภาครัฐเริ่มกลับเข้ามาแล้ว เห็นได้จากเริ่มมีการเซ็นสัญญาและประมูลงาน
บริษัทมั่นใจว่าภาพรวมอุตสาหกรรมจะยังขยายตัวได้อีกมาก โดยจะนำจุดเด่นของ AMARC ที่โดดเด่นในด้านความมั่นคงและชื่อเสียง จากการเป็นผู้ให้บริการทางวิทยาศาสตร์มายาวนานกว่า 19 ปี มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้สินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยได้รับการควบคุมคุณภาพ เพื่อร่วมสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับแนวโน้มในปี 2566 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด แต่มีปัจจัยลบจากสภาวะเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน คาดการณ์ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร เปลี่ยนเป้าหมายไปยังประเทศที่มีเงื่อนไขมาตรฐานด้านการผลิต การเพาะปลูก และความยั่งยืนที่สูงขึ้น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลดีต่อ AMARC นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบและค่าแรง จะส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทดแทนมากขึ้น
โดย AMARC วางกลยุทธ์การเติบโตมุ่งสู่การให้บริการแบบครบวงจร จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเติบโตหลักๆ มาจาก 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. Organic Growth โดยการขยายขอบข่าย ขยายกำลังการให้บริการรองรับนวัตกรรม ความยั่งยืน และการเติบโตของผู้ประกอบการ เทรนด์ที่เห็น คือ การเติบโตของ Function Food เช่น สารทดแทนน้ำตาล สารทดแทนไขมัน พรีไบโอติก โพรไบโอติก และวิตามินต่างๆ การปนเปื้อน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารพิษจากเชื้อรา และสารก่อมะเร็ง บริษัทจะเฝ้าระวังกฎหมายจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากทางอียู และขยายไปทั่วโลกการกำหนดทิศทางธุรกิจของ AMARC จะยึดจากกฎหมายไทยและต่างประเทศ
ซึ่งภายหลังการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้เงินระดมทุนจำนวน 332 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์จากงบที่ตั้งไว้ 96 ล้านบาท ขณะนี้จัดซื้อเสร็จสิ้นใช้ไป 30 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยลงทุนซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในปี 2565-2568 เพื่อขยายกำลังการให้บริการ กลุ่มงานตรวจวิเคราะห์ด้านเกษตรและอาหาร ชำระหนี้ จำนวน 75 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 1.2 ล้านบาทต่อปี และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 161 ล้านบาท ใช้ไป 93 ล้านบาท โดยชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้น 30 ล้านบาท ลดต้นทุนการเงินเฉลี่ย 0.7 ล้านบาทต่อปี ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ 12 ล้านบาท ขยายสาขาภูมิภาค 2 ล้านบาท และเพิ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ โดยขยายทีมงานจาก 116 คน ในปี 2564 เป็น 160 คน ในปี 2566 เราเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต Economy of Scale เพื่อตอบโจทย์ความต้องของลูกค้า โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น
2. Growth Factor สำคัญที่ AMARC มุ่งหวัง คือ การขยายตลาดไปในระดับภูมิภาคอย่างชัดเจนมากขึ้น จากเดิม AMARC จะมีรายได้ 90% มาจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทเล็งเห็นโอกาสในตลาดภูมิภาคซึ่งมีการแข่งขันน้อยกว่า จึงได้เปิดศูนย์ประสานงานและรับตัวอย่างสาขาแรก ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดศูนย์ประสานงานและรับตัวอย่าง ที่ จ.ลำพูน เป็นแห่งที่ 2 ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับการให้บริการในตลาดภาคเหนือ ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับภาคใต้อยู่ในแผนการลงทุน คาดว่าจะสามารถเปิดในปี 2567 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2568
3. เร่งการเติบโตของกลุ่มงาน Inspection & Certification Joint Venture แผนการพัฒนาขอบข่ายการให้บริการตรวจรับรองด้านสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าปัจจุบันในประเทศไทย เทรนด์ ESG สำคัญมาก บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีการเปิดข้อมูลด้าน ESG มีการจัดการเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ บุคลากรต่างๆ ของสาขานี้ภายในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงได้จัดตั้งกิจการร่วมค้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ “บริษัท วีกรีน เคยู จำกัด” เริ่มให้บริการเดือนตุลาคม 2566 นี้ เพื่อให้บริการที่ปรึกษาและทวนสอบ (Consultation & Verification) ในเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับองค์กร ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ และคาร์บอนเครดิต การผลิตพลังงานหมุนเวียน โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ฉลากสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการขยายการให้บริการตรวจรับรองด้านความยั่งยืน และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยจัดตั้งบริษัทย่อย ซึ่งร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้ชื่อบริษัท เอมาร์ค โกลบอล เวริฟิเคชั่น จำกัด เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท มีเป้าหมายเริ่มให้บริการในปี 2567 โดยจะให้บริการที่ปรึกษาและตรวจรับรอง (Consultation, Inspection & Certification) บริการตรวจรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน บริการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บริการที่ปรึกษาและบริการอบรม
“AMARC ตั้งเป้าการเติบโตสู่ระดับสากล มุ่งมั่นขยายกำลังการให้บริการอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อก้าวสู่การเป็นแล็บชั้นนำระดับสากลรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงนำภาคเกษตร และอาหารของไทยไปสู่ระดับโลก ไม่ให้แพ้ใคร โดยแผนการขยายธุรกิจในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น” นายศักดา กล่าว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon