มิติหุ้น – นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมักเป็นจะเป็นช่วงที่ลูกค้ามองหาวิธีบริหารจัดการภาษี ธนาคารทิสโก้ยังคงแนะนำให้ลูกค้ากระจายการลงทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เน้นลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต (Megatrends Investment) เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และเฮลธ์แคร์ เพราะเป็นสินค้าและบริการที่มีความต้องการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสังคมผู้สูงอายุและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และแนะนำให้วางแผนภาษีผ่านการซื้อประกันบำนาญ เพื่อสร้างรายรับหลังเกษียณที่แน่นอนทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขจนถึงอายุ 99 ปี พร้อมทั้งแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรงเพื่อช่วยปิดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งก่อน และหลังเกษียณ โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นประมาณ 8- 9% ต่อปี หรือปรับตัวสูงขึ้น 2 เท่า ทุกๆ 8 – 10 ปี
“ที่ผ่านมาธนาคารทิสโก้ส่งเสริมให้คนไทย และลูกค้าวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณที่เพียงพอสำหรับรองรับชีวิตี่อนาคตที่อาจยืนยาวถึง 100 ปี ดังนั้น ในการวางแผนภาษีในช่วงโค้งสุดท้ายของปีจึงเป็นโอกาสเหมาะที่ลูกค้าจะลงทุนและซื้อผลิตภัณฑ์ประกันที่ช่วยสร้างความมั่งคั่ง ปกป้องความมั่งคั่ง วางแผนภาษี และวางแผนเกษียณไปพร้อมๆ กัน” นายณัฐกฤติ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับวิธีการเลือกประกันบำนาญให้คุ้มค่านั้น ธนาคารทิสโก้แนะนำให้พิจารณา 3 ปัจจัย คือ 1.เลือกประกันบำนาญที่จ่ายผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ในอัตราที่สูง เช่น รับเงินประกันปีละ 24% ของจำนวนเงินเอาประกันและให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ที่ได้รับหลังเสียชีวิต (Death Benefit) น้อยลง 2.เลือกประกันบำนาญที่มีอายุในการจ่ายเงินบำนาญยาวที่สุด เช่น ประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญให้กับเรายาวถึงอายุ 99 ปีตามแนวโน้มในอนาคตที่จะมีชีวิตยืนยาว และ 3.เลือกบริษัทประกันที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง เช่น บริษัทที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ไม่ต่ำกว่า 140% รวมถึงบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาในการจ่ายค่าสินไหม
ด้านวิธีการเลือกประกันสุขภาพเพื่อใช้บริการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ โดยมีวิธีเลือกเบื้องต้น 3 ข้อ คือ 1. ความคุ้มครองค่ารักษา วงเงินความคุ้มครองต่อปีขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ประมาณ 3 – 5 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง รวมถึงวงเงินค่าห้องขั้นต่ำควรอยู่ที่ 8,000 – 10,000 บาทขึ้นไป 2. ระยะเวลาที่คุ้มครองควรคุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปีรับเทรนด์อายุยืน และ 3. ค่าเบี้ยประกันในช่วงหลังเกษียณอายุควรอยู่ในระดับที่รับได้
นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า การวางแผนภาษีผ่านประกันบำนาญนั้น จะช่วยลดหย่อนภาษีได้ 2 แสนบาท และอาจเพิ่มขึ้นถึง 3 แสน บาท หากยังไม่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีประกันชีวิตวงเงิน 1 แสนบาท โดยเมื่อรวมกับ SSF RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 1 แสนบาท ด้าน SSF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วน RMF จะลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon