เวฟบีซีจี ธุรกิจผู้อยู่เบื้องหลังความยั่งยืนเพื่อโลก เพื่อธุรกิจ

65

มิติหุ้น – นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เผยว่า “เวฟบีซีจี มีเป้าหมายในการเป็นผู้สนับสนุนให้องค์กรในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าในการแข่งขันบนเวทีโลกได้ด้วยการเป็นที่ปรึกษา และบริการแบบ One – Stop – Service ครอบคลุมการจัดหาโซลูชันด้านการบริหารจัดการพลังงาน กิจกรรมด้านการสร้างความยั่งยืน และการบริการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน”

“เพราะหลากหลายมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนส่งผลและผลักดันให้ธุรกิจต่างต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Carbon Tax ที่นานาประเทศต่างออกมาตรการ หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการภายใต้นโยบาย the European Green deal ป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในยุโรป โดยนำร่อง 7 รายการ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องเตรียมการเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของ CSR เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น คือเรื่องของประเด็นด้านซัพพลายเชน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคธุรกิจ เช่น กองทุนต่างประเทศ ที่จะต้องมีคะแนนด้าน ESG เพื่อเข้าถึง Green Finance แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็มีการขับเคลื่อน Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อนาคตสถาบันการเงินก็มีการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน เช่นกัน หากธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ธนาคารเองก็ไม่สามารถไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เช่นกัน”

นายเจมส์ เผยต่อว่า “ปัจจุบันเวฟบีซีจี เป็นผู้ถือครองคาร์บอนเครดิตในอันดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลักๆ ได้มาจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) และโครงการเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตต่างๆ โดยในส่วนของการเป็นที่ปรึกษา เวฟบีซีจี จัดว่าเป็นที่ปรึกษาทั้งมุมของผู้ซื้อและผู้ที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิต

ในมุมผู้ซื้อ สำหรับองค์กรที่ต้องการลดคาร์บอนฟุตปริ้นของตัวเอง เวฟบีซีจี จะช่วยตั้งแต่เริ่มคำนวณคาร์บอนเครดิตให้องค์กรนั้นๆ  และหาโอกาสหรือโซลูชั่นให้สามารถลดคาร์บอนภายในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การร่วมกันทำโร้ดแมพ ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน การวางแผนการเงิน โดยมีพันธมิตรระดับโลกอย่างชไนเดอร์ อิเล็คทริค เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการให้คำปรึกษา และโซลูชั่น นอกจากนี้เวฟบีซีจี ยังได้เป็นพาร์ทเนอร์กับสถาบันการเงินอีกด้วย

ในมุมของผู้ขาย เวฟบีซีจี ทำงานร่วมกับผู้รับรองมาตรฐานในการจะขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต อาทิ ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือผู้ประกอบการที่มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยบริการให้ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การขอมาตรฐาน การกำหนดราคาขาย  พร้อมทั้งการรับซื้อ เรียกได้ว่าช่วยเป็นตัวแทนได้อย่างครบวงจร

ยิ่งกว่านั้น เวฟบีซีจี ยังมีการจัดตั้งโครงการ Climate Project เป็นโครงการที่ช่วยให้องค์กรที่ต้องการลดคาร์บอนมาร่วมมือกัน เช่น โครงการปลูกป่า ซึ่งปัจจุบันมีแผนที่จะปลูกป่าทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ถึง 3 ล้านไร่ มีการพัฒนาพันธุ์ไม้ชื่อว่าซิลเวอร์โอ๊ค มาปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีอัตราการเติบโตที่ดี และมีความแข็งแกร่ง สามารถปลูกได้ทุกที่ ทุกสภาพดิน ไม่ว่าจะเป็นกลางแดด ใต้ร่ม โอกาสรอดมากยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อ ซิลเวอร์เวฟ กับ โกลเด้นเวฟ ความโดดเด่นที่นอกเหนือจากความทนทานคือ สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ปกติ ยิ่งไปกว่านั้น เวฟบีซีจียังกำลังคิดค้นนวัตกรรมการปลูกพืชเกษตรต่างๆ ปัจจุบันเวฟบีซีจีอยู่ในคณะทำงานของกรมวิชาการเกษตร

นายเจมส์เผยว่า “เพราะว่าเรื่องเกษตรเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เราจึงต้องสนับสนุนชาวนา ชาวไร่ ในการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อลดคาร์บอน เช่น มันสำปะหลัง มะม่วง ทุเรียน อ้อย และอื่นๆ ล่าสุดเรากำลังทดสอบการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวส่งออกเป็นรายต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว กลยุทธ์คือว่า เดิมทีการปลูกข้าวของประเทศไทย เป็นลักษณะให้ต้นข้าวแช่น้ำอยู่ในนา ซึ่งการแช่น้ำ ส่งผลให้ต้นข้าวบางส่วนเน่า การเน่าของต้นข้าวจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยาอากาศ เทียบกับคาร์บอนก็เกือบ 30 เท่า ทว่าการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากเป็นการลดการเน่าของต้นข้าวแล้ว เกษตรกรยังสามารถลดการใช้น้ำได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดมีเทนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว เหนืออื่นใดสามารถเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจที่ร่วมลงทุนก็สามารถนำเป็นเป็นคาร์บอนเครดิตได้เช่นกัน

การสนับสนุนให้องค์กรไปสู่ความยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือเรื่องของเทคโนโลยี เวฟบีซีจีได้เลือกเทคโนโลยีสำหรับสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในทุกๆ อุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เรียกว่า Climate Project เพื่อที่จะตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่จะใช้เทคโนโลยีไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้มีการเลือกโซลูชั่นจากทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความยั่งยืนระดับโลกอีกด้วย

นอกจากนี้เวฟบีซีจียังเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดนิทรรศการ หรืออีเวนต์ที่ผู้จัดงานต้องการให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีคาร์บอนเป็นศูนย์ อีกด้วย

นายสเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า “การร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และสร้างความยั่งยืน นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจในปัจจุบัน ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับ ทุกองค์กรไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสถาบันต่างๆ ก็สามารถมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวด้านความยั่งยืนร่วมกัน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสและการปฏิบัติไปสู่ความยั่งยืนของโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

“เราได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการมาร่วมเล่าถึง เป้าหมายด้านความยั่นยืนและวิธีดำเนินการขององค์กรนั้นๆ ในโครงการ Green Heroes for Life ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่แต่ละองค์กรมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความเป็นผู้นำในการก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืน”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon