“กรุ๊ปบีเบียร์” รวมพลคนผลิต และร้านคราฟท์เบียร์ทั่วประเทศ จัด THAI CRAFT BEER WEEK 2023 เขย่าตลาดเบียร์ 2.7 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และท่องเที่ยวไทย เริ่ม 20-28 ต.ค. 66 นี้

457

มิติหุ้น – นางสาวประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด เปิดเผยว่า “กรุ๊ปบี” เป็นบริษัทจัดจำหน่ายคราฟท์เบียร์ไทยที่คัดเลือกแบรนด์คุณภาพและกระจายสินค้าไปยังทั่วประเทศ ผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ ทั้งการขายผ่านตัวแทน หรือหน้าร้าน และ โมเดิร์นเทรด รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันตลาดคราฟท์เบียร์ไทยมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก (ปี 2017) ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ผลิตเบียร์รายย่อยจำนวนมาก แต่ยังไม่มีคนดูแลในเรื่องกระจายสินค้าประเภทนี้โดยตรง ด้วยความที่เราเห็นปัญหาในส่วนนี้ และมีความเชื่อว่าคราฟท์เบียร์ไทยจะต้องเติบโตในภายภาคหน้า จึงได้เริ่มธุรกิจนี้ขึ้นและยึดมั่นภารกิจในการนำเสนอและขยายช่องทางจำหน่ายคราฟท์เบียร์ไทยสู่ตลาดในวงกว้างมาตลอด 6 ปี

 

ทั้งนี้ เพื่อให้คราฟท์เบียร์ไทยเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  รวมถึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ไทยให้เติบโตมากขึ้น กรุ๊ปบีจึงได้เตรียมจัดกิจกรรม THAI CRAFT BEER WEEK 2023  ด้วยความตั้งใจอยากให้คราฟท์เบียร์ไทยได้ไปอยู่ทุกพื้นที่ ในรูปแบบต่าง ๆ และกระตุ้นความคึกคักให้ตลาดผู้ค้ารายย่อย ได้แก่ ร้านคราฟท์เบียร์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในไทย ตลอดจนบริวผับ โดยมีเว็บไซต์ www.ThaiCraftBeerWeek.com เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลาง ที่จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมตลอดสัปดาห์ด้วย

 

โดยเทศกาล THAI CRAFT BEER WEEK 2023 ประจำปีนี้ จะถูกจัดขึ้นเพื่อต้อนรับช่วง High Season ของไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2566 – 28 ตุลาคม 2566 นี้ โดยมีชาวคราฟท์เบียร์ไทยทุกภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่ตลาดขนาดใหญ่จนถึงธุรกิจรายย่อยท้องถิ่นร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมสุดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Gaginang, Changwon Express, CHUBB Cafe & Bar, Taisoon Bar, ไร่สองเรา ในกลุ่มกรุงเทพ และภาคกลาง, น้ำต้นเฮาส์บาร์ Beer Lab Chiang Mai, วัน.ยัน.ค่ำ ลาบรื่น, จากภาคเหนือ บ้านน้าหรอย,  What Da Ale จากภาคใต้ Beertique จากภาคตะวันออก Ubon Tap Taste, บ้านลุงเจ็ท จากภาคอีสาน รวมถึงร้านอื่น ๆ และอีเวนท์พิเศษอีกมากมายตลอดทั้ง 9 วันเต็ม คาดว่าพอเริ่มต้นอีเวนท์ในวันที่ 20 จะมีร้านมาลงกิจกรรมในเว็บไซต์เพิ่มอย่างคับคั่ง

 

“เราติดตามข่าวสารของต่างประเทศแล้วเห็นว่า มีการจัดงานเบียร์วีคในหลายประเทศ ซึ่งงานลักษณะนี้ ทุกร้านสามารถมีส่วนร่วมกับงานได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ซึ่งในประเทศไทยเอง เราเห็นว่าเริ่มมีเบียร์ที่นำเสนอแบรนด์เป็นของจังหวัดต่าง ๆ และกรุ๊ปบีเองทำงานกับคราฟท์เบียร์ไทยมา 6 ปีแล้ว มีลูกค้าเป็นร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เมื่อปีที่แล้วจัดงานประกวดคราฟท์เบียร์มาแล้ว ซึ่งเป็นการสนับสนุนบริวเวอร์ปีนี้ จึงอยากสร้างเบียร์วีคขึ้นเพื่อสนับสนุนร้านรายย่อยที่ขายคราฟท์เบียร์” นางสาวประภาวี กล่าว

 

การจัดงานครั้งนี้ มีความคาดหวังอยากเห็นความเป็น Unity ของไทยคราฟท์เบียร์ทั่วประเทศ ซึ่งเบียร์วีคจะช่วยสร้าง Unity และเพิ่มความแข็งแรงของอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ อยากเห็นบริวเวอร์ได้แสดงฝีมือและร้านได้โปรโมทสินค้าของตัวเอง ขณะที่ผู้บริโภคยังได้ตื่นเต้นกับกิจกรรมสนุก ๆ และเบียร์ใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยวางเป้าหมายอยากให้มีการจัดเทศกาลนี้ในทุกปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย และสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Beer Destination ให้คนไทยและชาวต่างชาติ  ได้เดินทางมาท่องเที่ยวและทดลองชิมเบียร์ไทยด้วย

 

นางสาวประภาวี กล่าวถึงตลาดคราฟท์เบียร์ว่า ปัจจุบันมีแบรนด์คราฟท์เบียร์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างถูกต้องประมาณ 50 แบรนด์ รวมจำนวนมากกว่า 100 ฉลาก และยังมีบริวผับที่กำลังจะเปิดใหม่อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนคราฟท์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีเกือบ 1,000 SKU และคาดว่ามีร้านรายย่อยที่เริ่มมีคราฟท์เบียร์จำหน่าย ทั้งผลิตในประเทศไทยและนำเข้า​ไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้านด้วย

 

แม้ว่าตลาดคราฟท์เบียร์มีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่ปัจจุบันมูลค่าตลาดยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก   จากข้อมูลในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดคราฟท์เบียร์รายย่อย ทั้งของแบรนด์ไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ    มีสัดส่วนเพียง 0.5-1% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 270,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดเบียร์สัดส่วนมากถึง 97% ยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดคราฟท์เบียร์ไทย และคราฟท์เบียร์ที่บริวในผับรายย่อยต่าง ๆ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ        200-300 ล้านบาทเท่านั้น ไม่นับตัวเลขที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนอีกส่วนหนึ่ง

 

โดยกรุ๊ปบี จัดจำหน่ายและทำตลาดคราฟท์เบียร์จากผู้ผลิตไทย ทั้ง Year round และ seasonal     ทั้งกลุ่มตลาดระดับ จนถึง เช่น ผีบอก แซนพอร์ต ยอดเบียร์ เหน่อเบียร์ อันเดอร์ด๊อก เทพพนม หรือ Taopiphop Ale Project ก็ด้วย และในปีนี้ได้เริ่มจำหน่ายสุราชุมชนเข้ามาในพอร์ต อาทิ สังเวียน นาสาร Red Jungle ในพอร์ท และกำลังจะมีสุราเทวะเพิ่มมาอีกด้วย ส่วนคราฟท์เบียร์ไทยในพอร์ทของกรุ๊ปบี มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใน ปีมีอัตราการเติบโตถึง​ 400​และยังมีผู้ประกอบการในตลาดคราฟท์เบียร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย ขณะที่ผู้นำเข้าคราฟท์เบียร์จากต่างประเทศ ยังถือว่ามีบทบาทสำคัญ        ในตลาดอยู่ไม่น้อย ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้อย่างแน่นอน

 

 

ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคราฟท์เบียร์ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเลือกเบียร์ของตัวเอง เช่น เลือกรสชาติที่ชอบ เลือกฉลากหรือยี่ห้อที่ชอบ เลือกตามงบประมาณที่ตัวเองมี และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกคราฟท์เบียร์ ที่ตนเองมั่นใจในรสชาติและยี่ห้อเป็นหลัก เป็นพฤติกรรมไม่ต่างจากดื่มเบียร์ทั่วไปในตลาด จึงทำให้คราฟท์เบียร์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกประเภท

 

“ทุกคนรู้จักคราฟท์เบียร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคส่วนมากให้การตอบรับเป็นอย่างดี  ถือเป็นการให้โอกาสสินค้าประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าเบียร์ทุกตัวสามารถเป็นกระแสได้ ถ้ามีการแนะนำให้พวกเค้ารู้จัก และทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดเรื่องการห้ามโฆษณา ทำให้การสื่อสารเรื่องของแบรนด์ดิ้งและสินค้า ทำได้ค่อนข้างยาก”คุณประภาวี กล่าว

 

ขณะเดียวกัน​ พบว่าผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทย ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง​กฎหมาย ทั้งด้านการผลิตและการทำตลาด ซึ่งผู้ผลิตคราฟท์เบียร์มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาต ทำโรงเบียร์ขนาดเล็กที่บรรจุสินค้าออกจำหน่ายภายนอกได้ รวมถึงต้องการให้กระทรวงการคลัง แก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ไม่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการทุกรายต้องการทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ อยากให้มีการคิดอัตราภาษีของคราฟท์เบียร์เท่ากับภาษีสุราแช่อื่น ๆ ด้วย เพราะปัจจุบันคราฟท์เบียร์เสียภาษีสูงกว่าสุราแช่ประเภทอื่น ๆ หลายเท่าตัว ทั้งที่กระบวนการผลิตไม่ต่างกัน

 

นางสาวประภาวี กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หรือที่เรียก พ.ร.บ. ต้านเหล้า ยังถือว่าเป็นอุปสรรคที่กีดขวางการประกอบอาชีพสุจริตของประชาชน ชาวคราฟท์เบียร์ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รวมตัวจัดแคมเปญล่ารายชื่อ เพื่อยื่นแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้มีการควบคุมที่สมเหตุสมผลและวัดประสิทธิภาพได้จริง สำหรับการเปลี่ยนแปลงอยากให้เป็นไปในเชิงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าและมีการพัฒนาระบบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย อยากให้ภาครัฐเชื่อใจผู้ผลิตและประชาชนมากขึ้น ว่ามีความต้องการสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

“ขณะเดียวกัน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ ดำเนินการแบบเร่งด่วนใน เรื่อง ดังนี้ 1.ปลดล็อคเวลาห้ามขายในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. และวันสำคัญทางศาสนา ต่อเนื่องไปถึงเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ต้านเหล้า 2.เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตขออนุญาตสร้างโรงเบียร์ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องขนาด สามารถบรรจุและส่งขายทั่วไปได้ จะทำให้คนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ 3.ปรับฐานภาษีสรรพสามิตของเบียร์ลงให้เท่าเทียมกับสุราแช่อื่นๆ เพื่อเป็นการลดจำนวนสินค้านอกระบบ และเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้มากขึ้นด้วย” นางสาวประภาวี กล่าวสรุปในตอนท้าย

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon