ไทยพาณิชย์เร่งหนุนภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านเมืองไทยสู่ Net Zero 9 เดือนแรกปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 52,000 ล้านบาท

89

มิติหุ้น  –  นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินธุรกิจอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 116 ปี เรายึดมั่นในการดำเนินองค์กรเพื่อความยั่งยืนบนหลักการธรรมภิบาลโดยตระหนักถึงการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร ลูกค้า และสังคมโดยรวม เมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการนำนโยบาย ESG เข้ามาผสานไว้ในแผนธุรกิจเพื่อรักษาขีดความสามารถและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่ Net Zero จากการดำเนินงานภายในของธนาคารภายในปี 2030 และ จากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 โดยมุ่งเน้นการนำพาองค์กร ลูกค้า และสังคม ให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติใน 3 ส่วน ได้แก่

  1. ปรับการดำเนินงานภายในองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ธนาคารได้เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในอาคารสำนักงานใหญ่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ลดการใช้พลังงานในอาคาร 10-15% ด้วยการเพิ่มแสงสว่างในอาคาร การเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED และระบบถ่ายเทความร้อนในอาคาร เตรียมการติดตั้ง Solar Cell ที่สำนักงานใหญ่ เปลี่ยนเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R32 ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 3,000 เครื่อง รวมถึงเปลี่ยนการใช้รถยนต์เป็นรถ EV 100% โดยคาดว่าการดำเนินการทั้งหมดจะสำเร็จ 100% ภายในปี 2028

 

  1. สนับสนุนผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืนให้ลูกค้ามุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ธนาคารต้องการมีส่วนในการผลักดันให้ลูกค้าทุกกลุ่มเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ Low Carbon Economy เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางของ Net Zero ร่วมกัน ผ่านการสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อและการลงทุนจำนวน 100,000 ล้านบาทภายในปี 2025 พร้อมด้วยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับองค์กรให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถปรับตัวรองรับกับโลกใหม่ที่ยั่งยืนไปด้วยกันได้

 

  1. ผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโดยรวม ธนาคารดำเนินการให้ความรู้แก่ลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SME เพื่อปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยปีนี้มีลูกค้าสนใจเข้าร่วมกว่า 500 บริษัท ดำเนินโครงการการช่วยเหลือสังคมเพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมกว่า 14 โครงการหลัก อาทิ โครงการปลูกและอนุรักษ์ป่า โครงการจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาชีวิตเยาวชน และชุมชนที่ดำเนินการมามากกว่า 30 ปี  มุ่งเน้นผลักดันให้ภาคธุรกิจ และประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพื่อให้คนไทยเห็นภาพตรงกันว่าเราต้องเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน

 

นายกฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธนาคารเร่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ของลูกค้าในประเด็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโอกาสจาการดำเนินธุรกิจ พร้อมจัดสัมมนาและแบ่งปันความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับลูกค้าพันธมิตรที่มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ให้ความสนใจและปรับตัวเพื่อสอดรับกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ทะยานสู่ 52,000ล้านบาท เติบโตมากกว่าเป้าหมายของปีนี้ที่วางไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท และมาครึ่งทางของเป้าหมาย 3 ปีที่ 1 แสนล้านบาทในปี 2568

การสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน 52,000ล้านบาทในระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2023 ครอบคลุมการสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในกว่า 11 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ อาทิ การท่องเที่ยว พลังงาน และภาคการผลิต เป็นต้น โดยมุ่งเน้นโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ไฟฟ้าพลังงานทางเลือกจำนวน 12,600 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 10,000 ล้านบาท การสนับสนุนการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนกว่า 26,100 ล้านบาท รวมทั้งธุรกิจ SME SSME และลูกค้าบุคคลอีกกว่า 3,000 ล้านบาท

นายกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญ ผ่านการทำหน้าที่ของสถาบันการเงินหลักของประเทศด้วยความมุ่งมั่น และจะเป็นผู้นำในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าทุกระดับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและโลกไปสู่เป้าหมาย Net Zero และการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนร่วมสนับสนุนในการให้ความรู้แก่องค์กรต่างๆ ในการบูรณาการแนวทางความยั่งยืนให้เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทุกคนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon