ออสสิริส ชี้เดือน พ.ย. เฝ้าระวังสงครามคลี่คลาย ทองเสี่ยงลงแรง

143

มิติหุ้น  –  ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment เผยแนวโน้มราคาทองคำเดือนพฤศจิกายน 2566 สองขั้วสถานการณ์สงครามส่งผลราคาทอง คาดราคาทองระอุอาจทะลุ 2,010 ดอลลาร์ และอาจทำจุดสูงสุดอีกครั้งที่ระดับ 2,080 ดอลลาร์ หากสัญญาณสงครามขยายวงกว้าง เผยในทางตรงกันข้ามหากสงครามคลายความตึงเครียดลดลง ราคาทองคำอาจเผชิญแรงเทขายทำกำไรออกมาจำนวนมาก เช่นเดียวกับกรณีสงครามระหว่างประเทศยูเครน -รัฐเซีย และระหว่างประเทศอื่น ๆ ในอดีต

นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวถึงสรุปสถานการณ์ราคาทองในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน และทำ New High สูงสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ระดับ 2,009 ดอลลาร์ (อ้างอิง ณ วันที่ 27 กันยายน) ปิดบวกเพิ่มขึ้น 8.7% ที่ระดับ 2,005 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคาปิดช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่ระดับ 1,848 ดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนหลักจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย นับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ทำให้ราคาพุ่งขึ้นราว 165 ดอลลาร์ แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 11 เดือน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 17 ปี จากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังประธานเฟดยังส่งสัญญาณการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังไม่ปรับลดลงตามที่เฟดคาดหวังไว้ โดยมีเป้าหมายที่ระดับ 2% ทำให้คาดการณ์ว่า เฟดอาจมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 1 ครั้ง ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงนานขึ้น

ขณะที่ราคาทองในประเทศที่ปรับตัวพุ่งขึ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์โดยราคาทองคำแท่ง 96.5% ราคาขายออกสูงสุดบาทละ 34,250 บาท สำหรับราคาทองรูปพรรณขายออกสูงสุดบาทละ 34,750 บาท โดยปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับราคาขายออกสูงสุดของเดือนก่อน หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และได้รับแรงหนุนจากค่าเงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวเหนือ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และทำ New High อ่อนค่าสุดรอบกว่า 11 เดือน ที่ระดับ 37.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นายพีระพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยเฉพาะความคิดเห็นของคุณเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดว่า จะส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อหรือไม่ หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน และมองเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างไร ซึ่งออสสิริสประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.50% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี แต่ไม่ปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อในเดือนธันวาคม พร้อมทั้งแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงนานขึ้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการเกิดเศรษฐกิจถดถอย หลังข้อมูลตลาดแรงงานงานยังแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อยังมี่ท่าทีว่าจะลดลงตามเป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งคือสิ่งที่ต้องพึงระวังว่า เฟดอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่จะขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อที่ไม่มีท่าทีที่จะลดลงซึ่งจะเป็นผลลบต่อราคาทองคำ

ต่อมาคือในประเด็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ จะสะท้อนความแข็งแกร่งด้านตลาดแรงงาน โดยจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่เฟดจะใช้ในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ หากตัวเลขแรงงานออกมาดี อาจเพิ่มแนวโน้มโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ (ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ) หากออกมาแย่อาจเพิ่มแนวโน้มโอกาสที่เฟดอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป (ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ) ซึ่งเราประเมินว่า ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐอาจมีการปรับลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบในเรื่องของการประท้วงขึ้นค่าแรง ผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการณ์ที่สูงขึ้น ผลกระทบทางอ้อมสำหรับสงครามในตะวันออกกลาง และอื่น ๆ แต่ภาพรวมยังสะท้อนความแข็งแกร่งด้านตลาดแรงงานอยู่อ้างอิงจากตัวแรงงานและอื่น ๆ ล่าสุด ที่ผ่านมาในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ยังมีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Price Index (CPI)) ที่จะประกาศในวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ประจำเดือนกันยายน โดยมีประกาศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ยังทรงตัวที่ระดับ 3.7% ทำให้ภาพรวมเงินเฟ้อในปัจจุบันยังห่างจากของเป้าของเฟดอยู่ที่ระดับ 2% ต้องมาติดตามกันต่อในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนตุลาคมว่า เงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ซึ่งเราประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะยังเคลื่อนไหวเหนือระดับ 3.5% ที่ยังสะท้อนเงินเฟ้อนั้นยังอยู่ในระดับสูง จากตัวแปรในเรื่องของเศรษฐกิจ ต้นทุนพลังงาน และอื่น ๆ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือหนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ

ส่วนในช่วงปลายเดือน วันที่ 22 พฤศจิกายน จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) อีกครั้งที่จะพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจ แนะแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินในอนาคต ท่ามกลางเงินเฟ้อสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก การประท้วงของแรงงาน และตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะตึงตัว หากส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ยทองจะได้รับปัจจัยบวกทันที แต่หากส่งสัญญาณความจำเป็นสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานขึ้น ทองจะได้ปัจจัยลบจากปัจจัยดังกล่าวทันที และในวันที่ 30 พฤศจิกายน จับตาดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ประจำเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯให้ความสำคัญหากสะท้อนว่าเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ (ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ) แต่หากสะท้อนเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอาจลดการคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ) โดยออสสิริสประเมินว่า ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ ประจำเดือนตุลาคมน่าจะยังสะท้อนภาวะเงินเฟ้อสหรัฐที่น่าจะยังทรงตัวในระดับสูงอยู่ หากเป็นไปตามคาดการณ์ก็จะเพิ่มโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 1 ครั้ง หรืออาจคงดอกดอกเบี้ยในระดับสูงได้นานขึ้น (ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ)

นายพีระพงศ์ กล่าวถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนพฤศจิกายนว่า ภาพรวมจะมีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่

1. ความเคลื่อนไหวของสกุลดอลลาร์สหรัฐ: แม้ว่าสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แนวโน้มใหญ่ยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า จากการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ แต่ก็ยังมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง โดยเรามีมุมมองว่าแม้ FED จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อในปลายปีนี้ หากขึ้นจริงก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเฟดจะสูงสุดของปีนี้ไม่เกินที่ 5.75% ซึ่งเราประเมิณว่าเฟดน่าจบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งหากเฟดส่งสัญญาณใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนมากขึ้นดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าทันที (ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อทอง)

2. ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ: มีโอกาสกลับตัวจากการขายทำกำไรหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นทำไฮสูงสุดในรอบ 17 ปี ที่ระดับ 5% อีกทั้งเฟดก็ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคลายความกังวลว่าบอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้นแรงและทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติมจะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวลดลงซึ่งจะเป็นผลบวกต่อทอง กลับกันหากอัตราผลตอบแทนกลับปรับตัวพุ่งต่อ อาจเป็นปัจจัยกดดันราคาทอง เนื่องจากทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย

3. สหรัฐอาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวล หลังหนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 33 ล้านล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่อง Government Shutdown อีกครั้งหากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวได้ทันกำหนด หากเกิดขึ้นจริงจะทำหน่วยงานรัฐบาลกลางจะเริ่มปิดตัวลง ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ด้วยการผ่านร่างงบประมาณระยะสั้นฉบับชั่วคราวหรือที่เรียกว่าเป็นร่างงบประมาณหยุดช่องว่างการใช้จ่ายงบฯ เพื่อให้รัฐบาลกลางเปิดทำการต่อไปได้อีก 45 วัน จนถึงกลางเดือน พ.ย. หมายความว่า นักการเมืองสหรัฐฯ ต้องกลับไปที่โต๊ะเจรจา และสหรัฐฯ อาจเผชิญกับการปิดทำการรัฐบาลอีกครั้ง อาจทำให้เกิดความกังวลต่อตลาดอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้บอนด์ยีลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองเหมือนครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

4. การเกิดสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อันเป็นผลจากการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงหากเกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือภาคการเงิน หากเกิดสัญญาณดังกล่าวจะส่งผลบวกกับทองคำทันที อาจหนุนให้ราคาทองทำ High อีกครั้ง

5. สถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลาง หากเข้าสู่สภาวะตึงเครียด หรือขยายวงกว้างมากขึ้น อาจทำให้นักลงทุนเข้าถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น คาดราคาทองอาจทะลุ 2,010 ดอลลาร์ และอาจแตะ 2,050 – 2,080 ดอลลาร์ ในตรงกันข้ามหากสงครามอยู่ในกรอบจำกัดระหว่าง 2 ประเทศ หรือมีสัญญาณความตึงเครียดลดลง หรือหากกลับเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจารได้ ราคาทองคำอาจเผชิญแรงเทขายทำกำไรออกมาจำนวนมากเฉกเช่น กรณีสงครามระหว่างประเทศยูเครนและรัฐเซีย และอื่น ๆ ในอดีต

6. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน: หากรัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจนตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นตัวมากกว่าเดือนที่ผ่านมา จะมีผลทำให้ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะประเทศที่มีการบริโภคทองคำอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้แนวโน้มราคาทองคำในมุมทางเทคนิค ล่าสุดราคาทองคำกลับมาเคลื่อนไหวที่ใกล้ระดับ 2,000 ดอลลาร์ อีกครั้งในปลายเดือนตุลาคม ขณะที่ภาพรวมใหญ่ใน TF4H พลิกกลับมาเคลื่อนไหวในแนวโน้มขาขึ้น ราคาทองคำกำลังดีดกลับขึ้นไปใกล้ High เดิม หลังจากย่อพักตัวลงมาแถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันที่ระดับ 1980 ดอลลาร์ แต่ไม่หลุด โดยเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวยังทำ Slope (ความชัน) เป็นบวกและตัดเส้นค่าเฉลี่ย 100 และ 200 วัน ในทิศทางขึ้นอยู่ แนวโน้มยังเป็น Uptrend สิ่งที่จะเกิดในมุมเทคนิคหากราคาทองคำในตลาดโลกสามารถเบรกแนวต้านสำคัญที่ระดับ 2,010 ดอลลาร์ ทองคำจะมีแนวโน้มขึ้นต่อทันที โดยมีแนวต้านแรกที่ 2,030 ดอลลาร์ มากสุดอาจมีลุ้นทดสอบ High เดิมที่ 2,080 ดอลลาร์ ที่ทำไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในตรงกันข้ามหากไม่สามารถเบรกและปิดเหนือแนวต้าน 2,010 ดอลลาร์ ราคาทองอาจกลับมาเคลื่อนไหว Sideway ในกรอบ 1,953 – 2,000 ดอลลาร์ เพื่อสะสมแรงขึ้นต่อตามแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากมีเปอร์เซนต์สูงที่อาจมีการปรับตัวลงมาชั่วคราวของกราฟแท่งเทียนหลัง RSI อินดิเคเตอร์เริ่มเข้าสู่เขตซื้อสูง (Overbought) เส้นโค้งวิ่งขึ้นไปเหนือ 70 ซึ่งอาจเผชิญแรงเทขายปรับตัวอ่อนค่าลง อีกทั้ง MACD ยังไม่สามารถทำคลื่นขาขึ้นชุดใหม่ ล่าสุดกำลังหดตัวกลับเข้าเส้น Zero Line หรือ 0 ให้จับตาดูหากราคามีการทำ High ใหม่ แต่ MACD กลับทำยอดคลื่นขาขึ้นลดต่ำลง มีโอกาสเกิดสัญญาณ Bearish Divergence ทั้งนี้หากปรับต่ำกว่าแนวรับสำคัญที่ 1,953 ดอลลาร์ ราคาทองจะพลิกกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงทันที และอาจกลับไปพักตัวบริเวณ 1,908 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนทองคำระยะยาวหากเราดูสถิติย้อนหลัง 5 ปีล่าสุด ทองยังเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น การลงทุนสินทรัพย์ประเภททองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและเป็นสินทรัพย์น่าลงทุนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดย นายพีระพงศ์ กล่าวสรุป

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon