มิติหุ้น – นายไมเคิล บีแคว๊ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACPG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ (1) บริษัท บริหารสินทรัพย์อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และ (2) บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC) โดยมีธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างครบวงจรเป็นธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีหลักประกัน โดยการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายอื่นในประเทศไทย มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่หลากหลายทั้งประเภทของสินทรัพย์และที่ตั้ง และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ และ ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มีที่มาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทฯ จากการขายทอดตลาด หรือการตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทฯ โดยจะคำนึงถึงคุณภาพของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและพิจารณาความต้องการของตลาด เพื่อให้จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ในมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่ารูปแบบธุรกิจของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์และสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมและสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในแต่ละช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งสร้างการเติบโตโดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารสินทรัพย์โดยมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนี้
1) กลุ่มบริษัทฯ เป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[1] โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 5,919.8 ล้านบาท และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,350.6 ล้านบาท
2) บริษัทฯ มีโอกาสในการเติบโตจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยจากรายงานการประเมินอุตสาหกรรม ณ เดือนสิงหาคม 2566 ที่จัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด คาดการณ์ว่าภายหลังจากที่มาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 จะมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้แก่บริษัทฯ ในการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
3) บริษัทฯ มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบส่งผลให้สามารถจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมผู้บริหารและบุคลากรหลักที่ผ่านการร่วมงานกับ Joint Venture ระหว่าง General Electric Capital และ Goldman Sachs[2] ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบกับบริษัทฯ มีกลยุทธ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลาย สามารถปรับให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดต่อทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ โดยสำหรับปี 2565 บริษัทฯ มีสัดส่วนเงินที่จัดเก็บได้ต่อมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายสุทธิที่ร้อยละ 33.2[3]แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสด
4) บริษัทฯ มีความสามารถในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวัง โดยมุ่งเน้นการลงทุนในพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่ความหลากหลายทั้งประเภทของทรัพย์สินและที่ตั้ง
และ 5) บริษัทฯ มีทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และเคยผ่านประสบการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง, วิกฤตซับไพร์ม, วิกฤตโควิด-19 เป็นต้น
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิเท่ากับ 3,383.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 และ มีทรัพย์สินรอการขายสุทธิเท่ากับ 1,982.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565
ในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 728.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 223.4 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 311.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 138.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และ ร้อยละ 26.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป กล่าวด้วยว่า หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2566 คาดว่าจะมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเพิ่มขึ้น โดยพิจารณาได้จากการคาดการณ์ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารพาณิชย์โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 จำนวน 1,123,485 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวน 436,238 ล้านบาท และคาดการณ์ยอดคงค้างสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 จำนวน 492,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ซึ่งมีจำนวนเท่ากับ 465,026 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการเติบโตของอุตสาหกรรมการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในประเทศไทยจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้แก่บริษัทฯ ในการเข้าลงทุนเพื่อขยายพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำระดับประเทศผ่านการให้บริการแบบครบวงจร เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon