มิติหุ้น – “บมจ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ หรือ L&E” เผยเริ่มเห็นสัญญาณบวก คาดแนวโน้มยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และต่อเนื่องไปยังปีหน้า โดยมีงานที่ติดตามอยู่ค่อนข้างสูงมูลค่า 4,000-5,000 ลบ. ส่วนใหญ่เป็นงานโครงการมากถึง 70% เข้ามาเติมแบ็กล็อกปัจจุบันอยู่ที่ 1,300 ลบ. และมีการทยอยรับรู้ต่อเนื่อง พร้อมชู 3 กลยุทธ์หลักรองรับแผนการกลับมาเติบโต ล่าสุดพบแหล่งวัตถุดิบ supply chain ลดต้นทุนการผลิต เตรียมขยายช่องทางการส่งออกเองไปยังสหรัฐฯ คาดเห็นผลปีหน้า เผยผลงานไตรมาส 3/66 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 683 ลบ. ลดลง 13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 3.4 ลบ. โดยยอดขายได้รับผลกระทบจากการส่งออกจาก LEM ผ่านพันธมิตรไปสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมีนัยสำคัญฉุดยอดขาย ขณะที่ยอดขายในประเทศยังเติบโต
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้คาดว่ายอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นและต่อเนื่องไปยังปี 2567 โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้น กอรปกับปัจจุบันยังมีปริมาณงานขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีงานที่ L&E อยู่ระหว่างติดตามอีกกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานโครงการถึง 70% อาทิ โครงการ Mixed-Use งานสนามบิน งานโรงพยาบาล งานโรงงาน และงานโครงการ One Bangkok เข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานใหม่ๆ ที่ได้มา เช่น งานโครงการ Dusit Central Park, APAC Tower เป็นต้น มาเสริมงานในมือ (Backlog) ราว 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ Entertainment มองว่าปี 2566 ความต้องการสินค้า IoT SMART POLES, Horticulture Lighting และ L&E virtual studio ที่ตอบโจทย์ยุค metaverse คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ปัจจุบันได้ขยายการเติบโตธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ L&E Beyond เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้บริการงานโปรดักชั่น (Production Solution Provider) แบบครบวงจร ให้บริการทั้งระบบแสง เสียง ภาพ และเทคโนโลยีล้ำสมัยกลุ่ม Entertainment Tech แก่ธุรกิจด้านบันเทิง อาทิ งานละคร งานถ่ายรายการโทรทัศน์ งานถ่ายทำ Music Video งานคอนเสิร์ต งานนิทรรศการแบบครบวงจร เสริมภาพลักษณ์ให้ L&E เป็นมากกว่าผู้นำธุรกิจ Lighting Solution
อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนการรองรับการกลับมาเติบโต ด้วยแผนธุรกิจหลักๆ ดังนี้ คือ 1.ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ปรับลดลงโดยไม่กระทบประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม (เช่น ลดจำนวนพนักงานส่วนเกิน) คงไว้สำหรับการลงทุนขยายงานเพื่อเก็บเกี่ยวต่อไป ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเดินทางไปเยี่ยมลูกค้าต่างประเทศ incentives ต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งการร่วมออกงาน Exhibition ใหญ่ๆประจำปี เช่น งานสถาปนิกสยาม งานช่างเหมา เป็นต้น
2.ยังคงรักษาแหล่งที่มาของรายได้หลักจากงานโครงการ total lighting solution ขายปลีกขายส่ง รวมทั้งจากธุรกิจใหม่ๆ เช่น IOT smart lighting, entertainment tech L&E beyond, Agricultural & Horticultural lighting เป็นต้น
3.และจากการที่โรงงานในเครือ LEM&LES ซึ่งมีประสบการณ์ผลิตสินค้าจำนวนมากๆ เปิดโอกาสที่จะส่งออกสินค้าเอง พบว่ากระบวนการทำงานต่างๆ ติดขัดไม่ราบรื่นอย่างที่คาดการณ์เนื่องจากต้องผ่านพาร์ทเนอร์รายเดียวนั้น บัดนี้ เราเชื่อมั่นว่าได้พบแหล่งวัตถุดิบ supply chain ในต่างประเทศที่เหมาะสมลงตัว รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรในการผลิตใหม่ๆ ทำให้ลดการพึ่งพาจากแหล่งเดียว อานิสงส์ให้โรงงานในเครือ LEM&LES ได้นำมาพัฒนาใช้ในการผลิตสินค้าที่เคยผลิต ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ให้แข่งขันได้ ทั้งสำหรับภายในประเทศและสามารถขยายช่องทางการส่งออกด้วยตนเอง เพื่อทดแทนยอดขายส่วนที่หายไปจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่หายไป คาดว่าจะเห็นผลในปีหน้า
สำหรับผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ 683 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 103 ล้านบาท หรือลดลง 13% สาเหตุใหญ่เป็นผลจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งผลิตและขายสินค้าให้ลูกค้าปลายทางที่ประเทศอเมริกาผ่านบริษัทพันธมิตรได้ลดลงอย่างมาก และการหาตลาดทดแทนยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม แม้ว่ารายได้จากการขายและให้บริการของบริษัทแม่จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 6% ก็ตาม (ทั้งๆที่มีโครงการต่างๆรวมกันกว่า 100 ล้านบาท ต้องเลื่อนการส่งมอบงานและรับรู้รายได้ไปเป็นปีถัดไป)
บริษัทมีกำไรสำหรับงวด 3.4 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 10.2 ล้านบาท หรือลดลง 75% เป็นผลจากปัจจัยต่อไปนี้ โดยกำไรขั้นต้นจากการขายรวมรายได้อื่นลดลง 4.2 ล้านบาท หรือลดลง 2% แม้รายได้จากการขายและให้บริการได้ลดลง 13% ทั้งนี้เพราะอัตรากำไรขั้นต้นได้ปรับดีขึ้นจาก 27.4% ในปี 2565 เป็น 31.4% ในปี 2566 เนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทได้ขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 7.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% สาเหตุใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดและส่งเสริมการขาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา supply chain เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ดีในตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ รวมถึงผลจากการปรับเงินเดือนประจำปี และดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.87% ในปี 2565 เป็น 4.08% ในปี 2566 และมีภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง 1.8 ล้านบาท
“ผลงานไตรมาส 3/66 ในประเทศถึงแม้ว่าจากงบเดี่ยว L&E ยอดขายจะเติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้งานโครงการล่าช้า งานใหม่ยังรอดูท่าทีสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ รวมถึงการแข่งขันสูงทั้งจากภายในและสินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับรู้รายได้ของงานโครงการช้ากว่าที่คาดไว้ กระทบผลประกอบการโดยรวมเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ และปัจจัยลบสำคัญมาจากการส่งออกจำนวนมากๆ จาก LEM ที่เคยผ่านพันธมิตรเจ้าหนึ่งไปสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับในปี 2565 ที่มียอดขาย 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่คาดว่า L&E จะส่งออกเอง ไม่สามารถมาทดแทนได้ทัน ส่งผลให้คาดการณ์ยอดขายของงบรวมทั้งปีจะลดลง 10% จากปีก่อน แต่ทดแทนยอดส่งออกที่ลดลงได้เพียงครึ่งเดียว” นายอนันต์ กล่าว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon