TTA รายงานกำไรสุทธิจำนวน 374.8 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2566

434

มิติหุ้น – บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานรายได้ จำนวน 6,567.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2566 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของ     ไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง และกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 24 ร้อยละ 46 ร้อยละ 18 ร้อยละ 8 และร้อยละ 4 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ โดย TTA มีกำไรขั้นต้นเป็น 1,575.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้นจากกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ส่วน EBITDA เติบโตร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 1,129.9 ล้านบาท โดยสรุป TTA รายงานผลกำไรสุทธิ จำนวน 374.8 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2566

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 TTA มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 44,459.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,866.8 ล้านบาท หรือ    ร้อยละ 7 จากสิ้นปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง 310.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 เป็น 8,119.9 ล้านบาท จาก

การลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร และมีการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด รวมถึงชำระเงินกู้ยืมระยะยาวในปี 2566 ทั้งนี้ TTA คงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.34 เท่า ณ สิ้นไตรมาส

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “ดัชนี          ซุปราแมกซ์ (BSI) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 912 จุด ในไตรมาสที่ 3/2566 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 1,793 จุด ในไตรมาสที่ 3/2565 และค่าเฉลี่ย 978 จุด ในไตรมาสที่ 2/2566 เนื่องจากการบรรเทาความแออัดของท่าเรือ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีซุปราแมกซ์มีการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์ทำสถิติสูงสุดที่ 14,906 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในช่วงปลายเดือนกันยายน และมีค่าเฉลี่ย 10,028 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในไตรมาส 3/2566 โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4/2566 ตลาดอาจมีการปรับตัวขึ้น ขณะที่สภาวะตลาดโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง”

สำหรับแนวโน้มปี 2566 จากบทวิเคราะห์ของ Clarksons คาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ร้อยละ 3.7 ในหน่วยตัน หรือร้อยละ 4.6 ในหน่วยตัน-ไมล์ ขณะที่ การขยายกองเรือคาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 2.9 ในหน่วยเดทเวทตัน (DWT) การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้า (รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน) ซึ่งทำให้รายได้จากการขนส่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท และการนำเข้าสินค้าแห้งเทกองของจีนที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดประเทศของจีนหลังการระบาดของไวรัสโควิด

ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ :

ในไตรมาสที่ 3/2566 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานรายได้ค่าระวางเรือ อยู่ที่ 1,590.1 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจฯ ที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับค่าระวางเรือของตลาดที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10,028 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งลดลงร้อยละ 7 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนช้าลงกว่าที่คาดไว้

อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็นเฉลี่ย 12,143 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจฯ ยังคงสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 9,527 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 27 โดยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าประกอบด้วย อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของ จำนวน 11,626 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และมีกำไรจากเรือเช่า (chartered-in vessel) จำนวน 517 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในไตรมาสที่ 3/2566 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของ มีอัตราการใช้ประโยชน์เรือสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดอยู่ที่ 22,191 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ส่วนใหญ่จะให้บริการให้เช่าเรือตามการเซ็นสัญญารับขนส่งสินค้าล่วงหน้า (Contracts of Affreightment หรือ “COA”) ซึ่งปกติจะทำสัญญาล่วงหน้า ดังนั้น ผลการดำเนินงานของเรือเช่าในไตรมาสนี้จึงได้รับผลประโยชน์จากอัตรา       ค่าระวางเรือของตลาดที่ปรับตัวลดลง ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน

ดังนั้น ไตรมาสที่ 3/2566 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 275.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 37 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ณ สิ้นไตรมาส  โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือ จำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 15.5 ปี

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :

บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมดฯ มีรายได้ในไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 2,996.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกบริการ โดยเฉพาะงานวิศวกรรมใต้ทะเล (subsea-IRM) และงานรื้อถอน (decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) รายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเล งานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้ง และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 60 ร้อยละ 30 และร้อยละ 10 ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฯ ตามลำดับ

ในส่วนของรายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของงานจากเรือเช่าระยะสั้น และงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเลด้านสำรวจและซ่อมบำรุง ในส่วนของอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลยังคงสูงที่ร้อยละ 99.5 ในไตรมาสที่ 3/2566 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 ในไตรมาสที่ 3/2565

โดยสรุป เมอร์เมดฯ รายงานผลกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งจำนวน 243.8 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 141.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 121 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มธุรกิจฯ มีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบสูงสุดในรอบทศวรรษ จำนวน 696.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :

ในไตรมาสที่ 3/2566 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA รายงานรายได้รวมที่ 1,200.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากปริมาณการขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น         ในขณะที่รายได้จากการขายปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากจากปริมาณขายปุ๋ยทั้งในประเทศและส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณขายปุ๋ยรวมอยู่ที่ 57.6 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปริมาณขายปุ๋ยในประเทศอยู่ที่ 48.3 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน

ในส่วนของปริมาณส่งออกปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากปริมาณการส่งออกปุ๋ยไปยังแอฟริกามีการขยายตัว ทั้งนี้ หากพิจารณาตามประเภทของปุ๋ย ปริมาณขายปุ๋ยเชิงเดี่ยว (single fertilizer) เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 16.3 พันตัน เช่นเดียวกันกับปริมาณขายปุ๋ยเชิงผสม (NPK fertilizer) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 41.3 พันตัน ในส่วนของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่นลดลงร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 67.1 ล้านบาท ในขณะที่ รายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 28.1 ล้านบาท จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งในไตรมาสนี้ที่ 34.3 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 23.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 998 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 พิซซ่า ฮัท มีสาขาจำนวน 186 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดเป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่

ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารสไตล์เม็กซิกันที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ทาโก้ เบลล์ มี 18 สาขาทั่วประเทศ

กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์

บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 90.97 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon