CMAN เปิดงบ Q3/66 รายได้ 769 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14 ล้านบาท แย้ม Q4/66 ปริมาณขายดีขึ้น! เริ่มเข้าไฮซีซั่นธุรกิจปูนไลม์ ลุยส่งออกเต็มพิกัด-เน้นลดต้นทุน หนุนธุรกิจเติบโตยั่งยืน

88

มิติหุ้น – บมจ.เคมีแมน (CMAN) ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรระดับท็อปเทนของโลก เปิดงบไตรมาส 3/2566  มีรายได้จากการขายและบริการ 769 ล้านบาท ลดลง 10% และมีกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท ลดลง 77% จากไตรมาสก่อน ผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความต้องการลดลงตามฤดูกาล รวมทั้งหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงครั้งใหญ่  ฟากซีอีโอ”อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์” แย้มไตรมาส 4 ดีขึ้นขานรับเริ่มต้นไฮซีซั่นธุรกิจปูนไลม์ และมีงานรอส่งมอบลูกค้าเพียบ เดินหน้าลุยตลาดลูกค้าต่างประเทศที่อุตสาหกรรมโตโดดเด่น ปรับโครงสร้างการเงิน และเพิ่มช่องทางลดต้นทุนยั่งยืน   

นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคมีแมน จำกัด(มหาชน) หรือ CMAN ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรระดับท็อปเทนของโลก ภายใต้แบรนด์ ‘CHEMEMAN’ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2566 สิ้นสุด 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 769 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จำนวน 856 ล้านบาท และลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 960 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 14 ล้านบาท ลดลง 77% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จำนวน 59 ล้านบาท และลดลง 81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 72 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 2,688 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 2,794 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 152 ล้านบาท

“ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วง low season ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ลูกค้าบางกลุ่มเลื่อนคำสั่งซื้อสินค้าออกไปเป็นช่วงไตรมาส 4  ดังนั้น ส่งผลให้ปริมาณการขายปูนไลม์ลดลง ขณะที่ราคาขายสินค้าเฉลี่ยลดลงตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ยังไม่รับรู้ (ในทางบัญชี) จำนวน 23 ล้านบาท เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินดองเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ถือโอกาสหยุด 3 เตาเผาปูนไลม์ในประเทศไทยและเวียดนามตามแผนการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร เตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตเต็มที่ในช่วง high season ที่จะเริ่มต้นขึ้นในไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า ถึงแม้ว่าบริษัทฯ หยุดเดินเตา และปริมาณการขายลดลง แต่ด้วยประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนขายในไตรมาส 3 ลดลง 26.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 34.7% เมื่อเทียบกับ 29.5% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนของปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น 32.5% เพิ่มขึ้นจาก 25.1% ในงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า กลยุทธ์การบริหารธุรกิจของบริษัทนั้นประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ท่ามกลางพายุใหญ่เศรษฐกิจโลก” นายอดิศักดิ์กล่าว

ส่วนแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก โดยประเมินว่าความต้องการในประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของอุตสาหกรรมน้ำตาล และคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศที่เลื่อนมาจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลงจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและบริการลดลง ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเดินหน้าเพิ่มยอดขายในตลาดเป้าหมายที่มีอัตรากำไรเหมาะสม มุ่งเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากอุตสาหกรรมดาวเด่น เช่น เหมืองนิกเกิล ลิเทียม แร่ธาตุหายาก (Rare-earth) มีโครงสร้างทางการเงินแข็งแรงขึ้น โดยการชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด เพื่อลดภาระดอกเบี้ย พร้อมลงทุนต่อเนื่องในโครงการพลังงานสะอาด ได้แก่ โครงการโซล่าร์ ซึ่งบริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และการใช้รถพลังงานไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกอีวี รถตักอีวี เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนอย่างยั่งยืน

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon