โซลูชันพลังงานแบบบูรณาการของ เอสพี กรุ๊ป ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอัจฉริยะของ ‘ม.รังสิต’ สู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

107

มิติหุ้น – มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเอสพี กรุ๊ป (เอสพี) กลุ่มสาธารณูปโภคชั้นนำและผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนในสิงคโปร์และเอเชียแปซิฟิก ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอัจฉริยะสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว โดยเอสพีจะเป็นผู้นำโซลูชันพลังงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนมาปรับใช้ให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งประกอบไปด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) พร้อมระบบการจัดการและจัดเก็บพลังงานแบบรวมศูนย์ รวมทั้งโซลูชัน GETTM (Green Energy Tech) ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะสำหรับอาคาร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้อาคาร โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 โซลูชันเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดถึงร้อยละ 21 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 1,400 ตันต่อปี

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เอสพีและมหาวิทยาลัยรังสิตยังได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับใช้โซลูชันพลังงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนให้มากขึ้นทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงระบบการทำความเย็นแบบศูนย์รวม (district cooling) เพื่อให้ระบบปรับอากาศสามารถประหยัดพลังงานมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งต่อยอดการปรับใช้ชุดระบบการจัดการพลังงานแบบดิจิทัลอัจฉริยะของ GETTM ซึ่งใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการดำเนินการอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้อาคาร

ภายใต้โครงการนี้ เอสพีจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (PV) บนหลังคาขนาด เมกะวัตต์ (MWp) บนอาคารจำนวน 9 หลัง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำบริเวณสระน้ำ อาคาร 7 รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วทุกอาคารของมหาวิทยาลัย โดยในโครงการนี้จะมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งช่วยให้สามารถจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตามความต้องการ โดยคาดว่าระบบโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งเพิ่มจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,749 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

เมื่อดำเนินการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ อาคารที่ตั้งของสำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต (อาคาร 13) จะเป็นอาคารต้นแบบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอาคารแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่มุ่งหวังจะได้รับสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้เอสพียังนำระบบ GETTM Control ซึ่งเป็นระบบร่วมศึกษาควบคุมคุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคารอัจฉริยะมาใช้ศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาคารนำร่อง ได้แก่ พื้นที่ชั้น อาคาร 12/1 และพื้นที่ชั้น 10 อาคาร 11 โดยใช้ระยะเวลาทดลองและสำรวจประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานให้ได้ร้อยละ 40  และยกระดับความสะดวกสบายให้ผู้อาศัยในอาคารได้ร้อยละ 14 โดยโซลูชันดังกล่าวได้ผสานความสามารถของ AI และ IoT เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมเครื่องปรับอากาศผ่านการคำนวณจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนผู้ใช้อาคารและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของอากาศให้เหมาะสมและกระจายความเย็นทั่วทั้งพื้นที่

นายแบรนดอน เจีย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของเอสพี กรุ๊ป กล่าวว่า อาคารต่าง ๆ อย่างอาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยล้วนมีความต้องการด้านการด้านการดำเนินงานและด้านพลังงานที่แตกต่าง ความเชี่ยวชาญของเราในการส่งมอบบริการด้านพลังงานแบบบูรณาการที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนและสามารถกำหนดเองได้จะช่วยให้อาคารต่าง ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและช่วยให้บรรลุผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน พร้อมมุ่งหวังที่จะได้ร่วมมือกันในการพัฒนาอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยขับเคลื่อนการลดปริมาณคาร์บอนในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นได้ของประเทศไทย” 

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึงสถาบันการศึกษาด้วย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร และพัฒนาเป้าหมายด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกเอสพี กรุ๊ป โดยพิจารณาจากผลงานที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งประทับใจในความมุ่งมั่นและโซลูชันที่ครอบคลุมของบริษัท จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จในการนำโซลูชันพลังงานแบบบูรณาการของเอสพี กรุ๊ปมาปรับใช้ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจะช่วยเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาอื่น ๆ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้”

มหาวิทยาลัยรังสิตมีจุดมุ่งหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในที่สุด

เอสพี กรุ๊ป ได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวให้กับบริษัทพันธมิตรในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 โดยมีโครงการด้านพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 40MWp ที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการและการก่อสร้าง รวมทั้งมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมมากกว่า 100MWp ทั่วประเทศไทย ซึ่งพันธมิตรหลักของบริษัทได้แก่ มาลี กรุ๊ปบริษัทเอเชีย คอมโพสิต แมททีเรียล (Asia Composite Material)บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (Compact International) และบริษัทสยามอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร จำกัด (มหาชน) (SAICO) ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง ประสบการณ์ระดับภูมิภาค และความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานของเอสพี กรุ๊ป เพื่อเริ่มดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอสพี กรุ๊ป ได้ประกาศติดตั้งระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางแห่งแรกในประเทศไทยให้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกับ บ้านปู เน็กซ์ โดยเมื่อติดตั้งระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางเสร็จสิ้นในปี 2567 จะสามารถทำความเย็นสูงสุดถึง 14,000 ตันความเย็น (RT) และทำให้โครงการฯ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 40 ล้านบาท (1.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี พร้อมบรรลุเป้าหมายในการประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 20 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 3,000 ตันต่อปี

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon