BCPG กางแผนกลยุทธ์ คาดปีหน้ารายได้เติบโต 30% พร้อมลงทุนเพิ่มในธุรกิจผลตอบแทนสูง

202

มิติหุ้น – บีซีพีจี เดินหน้าตามกรอบกลยุทธ์ เน้นการเติบโตในธุรกิจหลัก ลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงต่อยอดธุรกิจที่เป็น New S Curve พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าภายในปี 2573 รายได้ (Net Income) ทะลุ 3,000 ล้านบาท ดันกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยในปี 2567 ใช้งบลงทุนรวม 14,000 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 40 ตั้งเป้าลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง คาด EBITDA เติบโต 30% ในปี 2567

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสื่อมวลชน ในงานแถลงข่าว “BCPG Way Forward 2024” ว่า ในปี 2573 หรือ อีก 7 ปีข้างหน้า บีซีพีจีมีแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ผลตอบแทน: มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 3,000 ล้านบาท
  2. การลงทุน: กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 2,000 เมกะวัตต์ (Operating Capacity)
  3. ความยั่งยืน: ได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน

โดยดำเนินการภายใต้กรอบกลยุทธ์ประกอบด้วย

  1. Green Expanded การขยายกำลังการผลิต ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน และการต่อยอดการลงทุนในธุรกิจที่เป็น New S Curve
  2. Green Innovation การมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงานสีเขียว ที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  3. Green Target การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593

สำหรับ ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตให้แล้วเสร็จตามแผน ที่วางไว้ อีกทั้งยังจัดสรรงบประมาณอีกกว่าร้อยละ 40 หรือ ประมาณ 6,000 ล้านสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งทิศทางการดำเนินงาน บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business) โดยในปี 2567 บริษัทฯ คาดว่า EBITDA จะเติบโตร้อยละ 30

“ในการลงทุนทุกครั้ง บริษัทฯ คำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนที่มีความสมดุลย์ หรือ การ balance portfolio ที่เหมาะสม ในปีหน้าเราเน้นลงทุนใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่บริษัทฯ มีฟุตพริ้นท์อยู่แล้ว และเป็นประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อีกทั้งยังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจที่เป็น New S Curve อาทิ ธุรกิจกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม

สำหรับธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริษัทฯ ได้มีการต่อยอดการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ในประเทศไทย โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว ให้กับสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง-สายจำหน่ายของ กฟภ. ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการในโครงการนำร่องดังกล่าว ในเขตพื้นที่ อำเภอ นาแห้ว จังหวัดเลย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ภายปี 2567 ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายตลาดในประเทศไทยหลังจากที่บริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนในบริษัท วีอาร์บีเอ็นเนอยี่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน

การจัดสรรเงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ได้แก่

  • โครงการพลังงานลม “มอนสูน” โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ขนาด

600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป. ลาว ขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างทยอยติดตั้งกังหันลม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 133 ต้น ภายในกลางปี 2568 และพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้สิ้นปี 2568

  • โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 469 เมกะวัตต์

คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ จำนวน 58 เมกะวัตต์ได้ในปี 2568 จากนั้นจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จนครบทั้งหมดภายในปี 2569

  • โรงไฟฟ้าพลังงานลมนาบาส-2 ขนาดกำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนเกาะวิซายัส

เมืองนาบาส สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568 ตามแผน

การลงทุนในธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City and Infrastructure)

– โครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling) ในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้ บริษัทฯ ได้เริ่มก่อสร้างระบบผลิตความเย็นฯ ในเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,000 ตันความเย็น (Refrigeration Tons ,RT) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการใช้ความเย็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) และขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการวางแผนร่วมกับ PMCU เพื่อขยายไปยังเฟสอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสัญญาบริหารจัดการโครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางกับ PMCU กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,000 ตันความเย็นในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้

– โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองอัจฉริยะ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พัฒนาโครงการฯผ่านการนำระบบ บริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management), ระบบซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกัน (Energy Trading) และ ระบบการบริหารจัดการอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Building Management) โดยบริษัทฯ ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟทอปบนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 160 อาคาร กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 12.86 เมกะวัตต์ เพื่อบริหารจัดการพลังงานที่ผลิตได้ และในปี 2567-68 บริษัทฯ จะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติม อีก 2.5 เมกะวัตต์  รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ พร้อมพัฒนาโซลูชั่นอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายกำลังการผลิตของโซลาร์รูฟทอปเพิ่มขึ้น เพื่อตอบเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างเสถียรภาพของระบบส่งไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย ที่เปรียบเทียบได้กับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบระบบ ส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Distribution Grid) คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม 2567

สำหรับปี 2566 เป็นปีที่บริษัทฯ ได้ลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกาโดยได้เข้าซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแครอล เคาน์ตี้ เอนเนอร์ยี่ และ เซาท์ ฟิลด์ เอนเนอร์ยี่ ในรัฐโอไฮโอ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ และ ฮามิลตั้น เพทรีออต ในรัฐเพนซิลเวเนีย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วน รวมทั้งสิ้น 857 เมกะวัตต์  ซึ่งการเข้าลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับ แผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติทุกแห่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทฯ มีการป้องกันความเสี่ยง (hedging) ของรายได้จากการขายไฟฟ้าบางส่วน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านรายได้มากขึ้นอีกด้วย

และล่าสุดบริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยขนาดกำลังการผลิต 12.59 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 ซึ่งบริษัทฯ ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จากการรับรองขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ด้วยการปลูกป่า การใช้พลังงานสีเขียว และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon