มิติหุ้น – น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนร่วมก่อตั้ง SeaBOS กล่าวว่า ซีพีเอฟมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนคณะทำงานด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบของเครือข่าย SeaBOS ด้วยการถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงกุ้ง ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลและรับผิดชอบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่อยู่ในเครือข่าย SeaBOS ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารทะเล และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ตามวิสัยทัศน์ของซีพีเอฟ การเป็น “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน
ซีพีเอฟได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการผลิต อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเติบโตรวดเร็ว แข็งแรง และมีความต้านทานโรคสูง ส่งเสริมการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพสูง การใช้โปรไบโอติกใส่ในอาหารสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กุ้งมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดน้ำ เช่น การใช้จุลินทรีย์ช่วยบำบัดน้ำในบ่อ (Biofloc) ตลอดจน การแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เป็นต้น
“เครือข่าย SeaBOS มุ่งมั่นที่จะลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อร่วมป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นแนวทางขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร มีระบบการผลิตที่ยั่งยืน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และร่วมปกป้องฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติให้แก่คนรุ่นๆ ต่อไป” น.สพ. สุจินต์ กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรยกระดับห่วงโซ่อาหารทะเลของไทยตามหลักสากล ภายใต้ คณะทำงานการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทย (TSFR) เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งการทำประมงในทะเลอ่าวไทย พัฒนาหลักเกณฑ์มาตรฐานการรับรองวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำจากพื้นที่ที่มีสัตว์น้ำแบบหลากหลายสายพันธุ์ และพัฒนากระบวนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำตามมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย
ในงานประชุม SeaBOS ที่เมืองปูซานครั้งนี้ SeaBOS ได้อนุมัติการดำเนินโครงการ Keystone Project เพื่อให้บริษัทสมาชิกร่วมจับมือเร่งเครื่องสร้างความยั่งยืนท้องทะเลและอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยซีพีเอฟและเครือข่าย SeaBOS ได้ดำเนิน โครงการนำร่องตรวจสอบยีนดื้อยาในอาหารทะเล (AMR Gene Testing) เพื่อนำผลการศึกษามาพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังและลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป นอกจากนี้ SeaBOS ได้เปิดตัวรายงานสรุปผลลัพธ์สู่ความยั่งยืน (Impact Report) ฉบับปฐมฤกษ์ แถลงความคืบหน้าในประเด็นสำคัญ ได้แก่การป้องกันประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ การดื้อยาปฏิชีวนะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลาสติก รวมถึงประเด็นอื่นๆ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในการแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ โดยบริษัททั้ง 9 แห่งในเครือข่าย SeaBOS
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon