มิติหุ้น – ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 66 ขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดขยายตัว 3.2% แม้มองบวก หลังการส่งออกของไทยเดือนต.ค.ขยายตัวสูง 8% แต่กังวลกรณีสินค้าคงเหลือในไตรมาส 3 จะกดดันจีดีพีปีนี้ ขณะที่คงเป้าจีดีพีปี 67 ขยายตัวที่ 4%
ฝ่ายวิจัย ซีจีเอสฯ ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัว 8% yoy สูงกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัยฯที่ 6% ส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.2% yoy มากกว่าประมาณการ ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเดือนต.ค.ขาดดุล 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในเดือนต.ค.การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วน 78.6% ของมูลค่าการส่งออกปี 65) ขยายตัว 5.4% yoy แต่ลดลง 9% mom, ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ( สัดส่วน 17.2%) ขยายตัว 9% yoy แต่ยังลดลง 6% mom ทั้งนี้ยอดส่งออกไป สหรัฐฯ (สัดส่วน 16.5% ของมูลค่าการส่งออกของไทย) ขยายตัวสูงถึง 13.8% yoy ส่วนยอดส่งออกไปจีน ( สัดส่วน 12%) ขยายตัว 3.4% yoy
ฝ่ายวิจัย ซีจีเอสฯ มีมุมมองเชิงบวกต่อการส่งออกของไทยในไตรมาส 4/66 จากปัจจัยหนุนเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯที่อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยช้าลงหรือเลื่อนไปเป็นปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนที่แข็งแกร่งในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ฐานที่ต่ำของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในไตรมาส 4/66 ยังจะช่วยหนุนการเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยในไตรมาส 4/66 ด้วย ฝ่ายวิจัยฯจึงคาดปี 66 มูลค่าการส่งออกลดลง 2.3% และมูลค่าการน้ำเข้าลดลง 4% แต่ประมาณการดังกล่าวจะมี upside risk หากการส่งออกของไทยยังแข็งแกร่ง โดยเติบโตได้ในตัวเลขสองหลัก yoy
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯมองเศรษฐกิจไทย มีแรงกดดันจากส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ (inventory changes) ซึ่งทำให้จีดีพีไทยในไตรมาส 3/66 ขยายตัวต่ำเพียง 1.5% yoy เพราะส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือลดลง 220% ฝ่ายวิจัยฯจึงได้ศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างมูลค่าการส่งออกและสินค้าคงเหลือ ซึ่งพบว่าค่าสหสัมพันธ์(correlation) อยู่ที่ 0.2 เท่า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกแต่น้อย หมายความว่า ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ส่งผลให้สินค้าคงเหลือต้องสูงขึ้นตามมากนัก
ฝ่ายวิจัยฯ จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยปี 66 เป็นขยายตัว 2.5% yoy จากเดิมคาดขยายตัว 3.2% เพื่อสะท้อนแรงกดดันจากส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ ขณะที่ยังคงคาดจีดีพีปี 67 ขยายตัว 4% และคาดส่งออกโต 3.7% โดยมองว่าปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงสัญญาณที่ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยยังคงมีอยู่ เพราะมีการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงนานกว่าคาด อาจส่งผลให้เศรฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon