DMT เดินหน้าองค์กรสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

79

มิติหุ้น –  ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ได้บูรณาการโครงสร้างองค์กรและจัดตั้งคณะทำงาน 3Rs ขึ้นมาขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจนได้รับใบประกาศรับรอง ISO14001 ประกาศรับรองการแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) ผ่านการประเมินสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับ “ดีเยี่ยม” และได้รับการประเมิน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ “A” ซึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นการการันตีความมุ่งมั่นของทุกคนในองค์กรเป็นอย่างดี  และหมุดหมายสำคัญลำดับต่อไปขององค์กร คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกร้อยละ 30 ภายในปี 2024 และตั้งเป้าหมายองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ตามลำดับ

“กว่า 35 ปีที่ DMT เติบโตเคียงข้างคนไทย บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน โดยได้ผสานแนวคิดเรื่ององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกันโดยมีเป้าหมายคือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนไว้ในทุกกระบวนการทำงาน หล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยมีหลักคิดขององค์กรว่า การส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดหน้าที่เฉพาะฝ่ายที่ดูแลกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น เราบูรณาการคณะทำงานจากหลายๆ ฝ่ายรวมเข้าด้วยกัน ทำให้กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลได้ทั้งทางหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets : SBT) และเศรษฐศาสตร์ (Economic Outcome)” ดร.ศักดิ์ดากล่าว

ดร.ศักดิ์ดา เผยว่า  บริษัทได้ทำการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรและได้รับประกาศนียบัตรการรับรองการแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยผลการทดสอบในปี 2022 บริษัทมีขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรง และทางอ้อม อยู่ที่ 3,463 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี และวันนี้  บริษัทฯ ได้ประกาศแผนงานและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% หรือลดลงเหลือ 2,424 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ภายในปี 2024  ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ DMT จะร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะ E-In Process ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ด้านนางอโนมา อุฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานปฏิบัติการ กล่าวเสริมถึงแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกในสายงานปฏิบัติการว่า แผนงานติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 9 ด่าน จะแล้วเสร็จช่วงพฤษภาคม 2024 ซึ่งบริษัทประมาณการว่าเมื่อติดตั้งครบทั้งระบบจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 30 เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 348 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นเดือนแรกที่บริษัทเริ่มผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซล ที่ติดตั้งบนอาคารสำนักงานใหญ่และหลังคาด่านดอนเมือง สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ 21,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 แสนบาท เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 11 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อเดือน (TonCO2e) และอีกโครงการที่ DMT ริเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด คือการนำแผงโซลาเซลล์และแบตเตอรี่สำรองไฟ ติดตั้งไว้กับรถปฏิบัติการงานซ่อมบำรุง สำหรับออกปฏิบัติงานช่วงกลางคืนโดยไม่ต้องติดเครื่องยนต์  สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน ลดการสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 450 ลิตรต่อปี เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.2 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี

นายนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงอีกแผนงานที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยตรงว่า  ปัจจุบันบริษัทมีนโยบายเปลี่ยนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้ในงานกิจกรรมและการปฏิบัติงานของบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าและข้อมูลด้านเทคนิคจาก บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งรถบัสพลังงานไฟฟ้าและรถกระบะพลังงานไฟฟ้า สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทดสอบการใช้งาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถ เปรียบเทียบความประหยัดและเป็นการลดก๊าชเรือนกระจกขององค์กรอย่างต่อเนื่อง 

“สำหรับการบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่รถผู้ใช้ทาง ปัจจุบันเรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ติดตั้งที่อาคารสำนักงานใหญ่ สำหรับช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หมดบนสายทางอุตราภิมุข และภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เราจะเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge อีกแห่งที่ด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง เพื่อให้บริการผู้ใช้ทางได้ชาร์จก่อนขึ้นบนสายทาง” นายนพพลเผย

 

นายนพพล ให้ข้อมูลต่อว่า นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการสร้าง Ecosystem โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้นำฝุ่นที่มาจากการดูดกวาดบนสายทางในแต่ละวัน มาผสมกับขยะพลาสติกทั้งหมด 5 ประเภทคือ HDPE, PP, PS, PET และพลาสติกรวม โดยในการทดลองนั้นจะปรับสัดส่วนของฝุ่นและปริมาณพลาสติกแต่ละประเภท เพื่อหาแนวทางการขึ้นรูปผลิตอิฐก้อนหรือแผ่นกระเบื้อง และนำไปทดสอบความแข็งแรงทนทานผ่านการรับรองจากสถาบัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการเสนอจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon