ก.ล.ต. ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566

126

มิติหุ้น  –  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รองรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust and Confidence) พร้อมกับการมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และความยั่งยืน (ESG) เพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 16/2566 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับเป้าหมายการทำงานเพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust and Confidence) และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

          (1) จัดกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมายไว้ด้วยกัน เพื่อให้ภารกิจงานทั้งหมดสามารถเชื่อมประสานกันได้อย่างราบรื่นตั้งแต่การระดมทุนและติดตามดูแลภายหลังการระดมทุน

          (2) เพิ่มสายงานด้านการบังคับใช้กฎหมายอีก 1 สายงาน เพื่อรองรับปริมาณงานที่ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และจะนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

(3) แยกหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนออกมาให้ชัดเจน โดยตั้งเป็น “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับและติดตามเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ทั้งเรื่องร้องเรียนตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. และเรื่องร้องเรียน ก.ล.ต. ซึ่งรวมถึงบุคลากรของ ก.ล.ต. ด้วย

(4) ปรับปรุงขอบเขตงานด้านคดี โดยโอนงานคดีปกครอง เพื่อรวมศูนย์งานด้านคดีไว้ที่เดียวกัน

(5) รวมศูนย์งานด้านกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) ไว้ที่ส่วนงานเดียว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการมองภาพรวมทั้งระบบ

(6) จัดโครงสร้างและขอบเขตงานของสายงานตัวกลางและสายธุรกิจจัดการลงทุน เพื่อช่วยให้การทำงานและขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

(7) เพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้การเข้าถึงการลงทุนและการจัดสรรเงินลงทุนของผู้ลงทุนเป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาและกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน

(8) จัดให้สายงานกฎหมายขึ้นตรงต่อเลขาธิการเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล (check & balance) ซึ่งจะทำให้งานเกิดความรอบคอบและสมบูรณ์ เนื่องจากสายงานกฎหมายเป็นสายงานที่จะเห็นความเชื่อมโยงของหลักเกณฑ์ทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้แก่ส่วนงานต่าง ๆ ของ ก.ล.ต.

สำหรับโครงสร้างองค์กรที่ปรับปรุงใหม่จะมีการเพิ่มผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 1 ตำแหน่ง และเพิ่มผู้อำนวยการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน ฝ่ายนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล ซึ่งภายหลังการเพิ่มตำแหน่งดังกล่าว โครงสร้างองค์กรของ ก.ล.ต. จะประกอบด้วย รองเลขาธิการ 4 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ 12 ตำแหน่ง ส่วนงาน 36 ฝ่าย และ 1 ศูนย์

นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้ายพนักงาน ดังต่อไปนี้

  1. นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับตลาดและความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจจัดการลงทุน
  2. นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจจัดการลงทุนและตัวกลาง เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจตัวกลางและตลาด
  3. นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 1และเป็นรักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 อีกตำแหน่งหนึ่ง
  4. นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงิน เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล อีกตำแหน่งหนึ่ง
  5. นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กร เป็นหัวหน้าศูนย์์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสอีกตำแหน่งหนึ่ง
  6. นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกตำแหน่งหนึ่ง
  7. 7.นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจหลักทรัพย์ และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด อีกตำแหน่งหนึ่ง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon