มิติหุ้น – คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจจาก Global Talent Survey ซึ่งเป็นการสำรวจผ่านเว็บไซต์และการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network ในปี 2565 โดยผลสำรวจนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงและช่วยให้ผู้ประกอบการเชื่อมต่อกับผู้สมัครงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 90,547 คน จาก 160 ประเทศ ในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการทำแบบสำรวจจำเพาะเพื่อโฟกัสตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 97,324 คน จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยที่ประเทศไทย มีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจชุดนี้ ทั้งหมด 2,636 คน
5 สายงานสุดปัง ที่ตลาดแรงงานไทยต้องการสูง
“จากผลสำรวจชุดนี้ พบว่าแนวโน้มตลาดแรงงานในปัจจุบันทั้งในประเทศไทย ระดับเอเชีย หรือระดับโลก เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือผู้หางานรู้ตัวว่ากำลังเป็นที่ต้องการมีอำนาจการต่อรองในด้านบวก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด 19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้เริ่มเกิดการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน แม้จะเด็กจบใหม่จำนวนมาก แต่องค์กรหรือผู้ประกอบการยังมองหาผู้ที่มีประสบการณ์ในสายงานมากกว่า ทำให้ผู้สมัครเกิดความรู้สึกมั่นใจในอำนาจการต่อรอง แม้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจะมีค่าเฉลี่ยของความถี่ในการได้รับข้อเสนองานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่โดยรวมยังนับเป็นข้อเสนอในความถี่ระดับปกติ
ตำแหน่งงานที่ได้รับข้อเสนองานทุกสัปดาห์ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
อันดับ 1 ดิจิทัล การจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล และ AI 37%
อันดับ 2 สื่อ ศิลปะ และการออกแบบ 36%
อันดับ 3 การบริการและการต้อนรับ 34%
อันดับ 4 บริการทางการเงิน 30%
อันดับ 5 บริการด้านสุขภาพและสังคม 30%
“ซึ่ง 5 สายงานนี้เป็นอาชีพที่มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าทั้ง 5 สายงานมีจุดเชื่อมโยงกัน คือ ทักษะด้านการวางแผน การดำเนินการ และการสื่อสาร เกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญในชีวิตด้านการเงิน สุขภาพ และสังคม คาดว่าในปี 2567 จะพบธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น”
3 แรงจูงใจระยะยาว มัดใจผู้สมัคร
ผลสำรวจชุดนี้ นอกจากเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการหรือองค์กรที่มีความต้องการบุคลากรที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงานแล้ว ยังพบนัยยะสำคัญถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้สมัคร ผู้ประกอบการจึงสามารถนำจุดนี้ไปพัฒนากระบวนการสรรหา หรือรักษาบุคลากรในองค์กรให้คงอยู่ ด้วยแรงจูงใจระยะยาว จากแบบสำรวจของไทย พบว่า 3 อันดับแรกของแรงจูงใจ ได้แก่
อันดับ 1 งานที่มั่นคงและมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน 77%
อันดับ 2 ทำงานในบริษัทที่ดี และเติบโตสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น 55%
อันดับ 3 ต้องการมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นของตน 32%
“77% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย ต้องการงานที่มั่นคงและมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีเช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก รองลงมา 55% ต้องการเติบโตไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น และ 32% ต้องการมีธุรกิจส่วนตัว ปัจจัยหลักที่ทำให้ปฏิเสธงานทันที คือ ค่าตอบแทนและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หากไม่สมเหตุสมผลก็จะปฏิเสธข้อเสนองานทันที ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจรับข้อเสนองานเช่นเดียวกับผู้สมัครงานทั่วโลก คุณค่าของการได้ร่วมงานกับองค์กรที่มีชื่อชื่อเสียงหรือความหมายของงานเป็นข้อพิจารณาที่ให้ความสำคัญน้อยกว่าเล็กน้อย”
ในส่วนของรูปแบบการทำงานที่ผู้ประกอบการไทยอาจต้องปรับตัวคือ ระบบทำงานเต็มเวลาที่สำนักงาน เพราะปัจจุบันจากผลสำรวจพบว่า บุคลากรมีการคำนึงถึงเวลาทำงาน ที่มีความต้องการแบบ hybrid working สูงมากขึ้น เพราะผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยลังเลที่จะกลับไปทำงานเต็มเวลาที่สำนักงาน มีเพียง 22% เท่านั้นที่ต้องการกลับไปทำงานที่สำนักงาน ซึ่งต่างจาก 35% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกที่พร้อมทำงานเต็มเวลาที่สำนักงานมากกว่าทำงานที่บ้าน ในขณะที่เวลาทำงานที่ต้องการ คนไทย 69% ยังคงต้องการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และ 21% ต้องการทำงานแบบพาร์ทไทม์
“ถ้าผู้ประกอบการกำลังมองหาวิธีดึงดูดผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการ ต้องมีข้อเสนอที่ดี เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าบริษัทเดิม ตำแหน่งงานที่สูงกว่า และทำให้ผู้สมัครงานเห็นว่า โอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานดีกว่าเดิม ซึ่ง 3 ข้อนี้ สามารถดึงดูดใจ เพิ่มความน่าสนใจแก่ผู้สมัครงานได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ผู้ประกอบการมองหา แม้ว่าเขาจะไม่ได้กำลังมองหางานใหม่ก็ตาม แต่ด้วยข้อเสนอดังกล่าว มีผลในการพิจารณารับข้อเสนองานใหม่”
คุณดวงพร กล่าวต่อว่า “นอกจากข้อเสนอที่ดีแล้ว ประสบการณ์ที่ดีในระหว่างกระบวนการสมัครงานและการคัดเลือกเข้าทำงาน วิธีการและช่องทางที่ผู้สมัครให้ความสนใจก็มีอิทธิพลในการตัดสินใจ หากผู้ประกอบการหรือองค์กรละเลยจุดนี้ ก็อาจเป็นข้อผิดพลาดได้ การพัฒนากระบวนการสรรหาที่ตรงกับความต้องการของแรงงานในปัจจุบัน สามารถเพิ่มความโดดเด่นให้กับองค์กรได้ เพราะ 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจพึงพอใจมาก หากขั้นตอนการสรรหาราบรื่น มีระยะเวลาที่เหมาะสม และ 35% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ประสบการณ์เชิงลบระหว่างการสมัครงาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ปฏิเสธงาน แม้ข้อเสนอจะน่าสนใจ”
ปรับตัว พัฒนากระบวนการสรรหา สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ
“แม้ผลสำรวจจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้สมัครงานจะมีอำนาจต่อรองสูง มีโอกาสเลือกข้อเสนองาน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องวิตกกังวลกับข้อต่อรองต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้เสนอและต่อรอง ให้พื้นที่และเวลาในการตัดสินใจกับผู้สมัครงาน และติดต่อกลับเพื่อพูดคุยหลังจากนั้น ไม่ควรคิดว่ากระบวนสรรหาจบลงที่ขั้นตอนการเสนองานเท่านั้น”
“ผู้ประกอบการหรือองค์กรต้องเข้าใจและปรับตัว พัฒนากระบวนการ ปรับปรุงกลยุทธ์การสรรหา และข้อเสนอ เลือกใช้ดิจิทัลโซลูชันในการสรรหาบุคลากรเพื่อให้ราบรื่นและรวดเร็วขึ้น มองให้ไกลกว่าความนิยมของตลอดและมหาวิทยาลัย จ้างงานคน 70% ที่เหมาะสมกับองค์กร และฝึกฝนอีก 30% ที่เหลือ ปลดล็อกผู้มีความสามารถภายในบริษัท พนักงานปัจจุบันจะรู้สึกว่า องค์กรให้ความสำคัญ และไม่ต้องการลาออกในสถานการณ์ตลาดแรงงานที่แข่งขันสูงในปัจจุบัน” คุณดวงพร กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon