CGS CIMB : คาดกลุ่มธนาคารไทยมีกำไร 4.69 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4/66

100

มิติหุ้น – ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ฝ่ายวิจัยฯประมาณการกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มธนาคารไทยในไตรมาส 4/66 ที่ 4.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% yoy และลดลง 7% qoq โดยเชื่อว่ากำไรจะเติบโต yoy จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น 35bp yoy และอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลง

สำหรับกำไรที่ลดลงเล็กน้อย qoq น่าจะมาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 46.6% ในไตรมาส 4/66 จาก 43.8% ในไตรมาส 3/66 ซึ่งโดยปกติแล้ว ธนาคารไทยจะบันทึกค่าใช้จ่ายจำนวนมากในไตรมาส 4 เช่น ค่าตอบแทนพนักงานและงบลงทุนในปีถัดไป

ธนาคารไทยที่ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอสฯ ศึกษามี 7 แห่ง ประกอบด้วย BBL, KBANK, SCB, KTB, TTB, TISCO และ KKP

ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอสฯ คาดว่า ในไตรมาส 4/66 กลุ่มธนาคารไทยจะมียอดสินเชื่อรวมลดลง 0.3% yoy และ 1.3% qoq และอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า SME แบบ selective นอกจากนี้ยังพบว่า ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ารายย่อยในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น และราคารถมือสองลดลง

ขณะเดียวกันคาดว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะเพิ่มขึ้น 35bp yoy และ 6bp qoq เป็น 3.65% ในไตรมาส 4/66 แต่ NIM ที่เพิ่มขึ้น 6bp qoq ในไตรมาส 4 ยังต่ำกว่าค่าเเฉลี่ยที่บวก 20bp qoq ในช่วงสามไตรมาสก่อนหน้า เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนต.ค.66

รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนพ.ย. 66 แสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะแตะจุดสูงสุดแล้ว

สำหรับการสำรองหนี้สูญในไตรมาส 4 ฝ่ายวิจัยฯคาดไว้ที่ 157bp ทรงตัว qoq และ ลดลง 16bp yoy เชื่อว่าการสำรองหนี้สูญที่ลดลง yoy มาจาก KBANK เป็นหลัก เพราะ KBANK บันทึกสำรองหนี้สูญสูงถึง 368bp ใน 4/65 จากการเคลียร์งบดุลเชิงรุก ทั้งนี้การสำรองหนี้สูญของ KBANK ไตรมาส 4/66 คาดอยู่ที่ 209bp ยังสูง เพราะ KBANK ยังคงเคลียร์ NPL และสินทรัพย์รอการขายออกจากงบดุล

จึงมองว่า คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย ยังคงทรงตัวและคาดว่าอัตราส่วน NPL จะอยู่ที่ประมาณ 3.62% ในไตรมาส 4/66 เทียบจาก 3.58% ในไตรมาส 3/66 และ 3.67% ในไตรมาส 4/65

ฝ่ายวิจัยฯยังแนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารไทย เพราะจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว และคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นในปี 67 โดยปัจจัยบวกหนุนหุ้นแบงก์คือ การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น
จาก GDP ที่เติบโต และผลดีจากดอกเบี้ยสูง ส่วน downside risk มาจากคุณภาพสินทรัพย์ลดลง และการประกาศมาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจทำให้แบงก์เพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้สินเชื่อเติบโตชะลอตัว

ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอสฯ เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้น Top pick โดย BBL ให้ราคาเป้าหมาย 193 บาท คาดว่าเงินลงทุนต่างชาติจะไหลกลับมาซื้อ BBL เพราะการประเมินมูลค่าน่าสนใจที่ P/BV 0.5 เท่าในปี 67 เทียบกับค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 0.65 เท่า BBL จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ย และคาดกำไรสุทธิเติบโตดีในปี 66-68

SCB ให้ราคาเป้าหมาย 145 บาท คาดว่า ROE จะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ c.10% ในปี 68 จาก NIM ที่เพิ่มขึ้น, สินเชื่อที่เติบโตสม่ำเสมอ และอัตราสำรองหนี้สูญที่ลดลง ทั้งนี้ราคาเป้าหมายดังกล่าวคิดจากมูลค่าธุรกิจธนาคารเท่านั้น

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon