สงครามดอกเบี้ย! รัฐ VS แบงก์ชาติ สมรภูมิที่ยังคุกรุ่น

319

มิติหุ้น – ดูเหมือนว่าการก้าวขึ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีหมวกอีกใบเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้อำนาจในการดำเนินนโยบายการคลังดูเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยประเด็นสำคัญที่ทุกคนจับตาในขณะนี้คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรีออกมาเน้นย้ำตลอดว่า “ไม่เห็นด้วย” กับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงขณะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ

ความเห็นต่าง สะเทือนเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ทำเอาสะเทือนไปถึงหน่วยงานย่านบางขุนพรหม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ที่เป็นผู้คุมกฎ นโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีถึงกับมีการเรียก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกหารือมาแล้วถึง 2 ครั้งเป็นการส่วนตัว

แม้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่าการหารือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใดและใช้เหตุผลในการพูดคุยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า “ไม่ก้าวก่ายการทำงานของแบงก์ชาติอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การยืนยันของนายกรัฐมนตรีนั้น จะดูเป็นการหารือร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศแบบไม่มีความขัดแย้งกัน แต่บรรยากาศระหว่าง “รัฐบาล-แบงก์ชาติ” ก็ยังคงดู “คุกรุ่น” ในประเด็น “ดอกเบี้ย”

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูในอดีต สงครามความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง “รัฐบาล” ในฐานะผู้บริหารประเทศกับ “แบงก์ชาติ” ในฐานะกำกับดูแลเศรษฐกิจ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลหลายสมัยที่ผ่านมาก็มีปัญหาในเรื่องนี้มาโดยตลอด เราคงได้แค่ติดตามต่อไปว่าปัญหาครั้งนี้จะจบลงอย่างไร

อดีตยังจารึก 4 ผู้ว่าแบงก์ชาติถูกปลด!

  1. นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 6 ถูกปลดในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี กรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร
  2. นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 10 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย
  3. นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุของการปลดครั้งนั้นมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการประกาศปรับลดค่าเงินบาท
  4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยไม่ได้ระบุเหตุผล แต่คาดว่ามีความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon