มิติหุ้น – นายฉัตรภพ พรธรรม ผู้จัดการฝ่ายบริหารความยั่งยืน บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการประกาศเรื่องมาตรการ CBAM มานั้น ทาง SYS ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปยังยุโรปให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรการ CBAM ซึ่งการได้เข้าร่วมในโครงการ “การเตรียมความพร้อมสินค้าส่งออกสหภาพยุโรปเพื่อรับมือมาตรการ CBAM” ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีเพราะจะเป็นการทวนสอบถึงสิ่งที่ SYS ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ว่ามีความเข้าใจถูกต้องหรือไม่ และการดำเนินการโครงการนี้ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยในการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังภาคพื้นยุโรป ถือเป็นการติดอาวุธและความพร้อมที่ดีให้กับผู้ประกอบการ
บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างแท้จริง ด้วยการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่มุ่งหน้าสู่ Green Ecosystem ที่จะช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวได้ในที่สุด ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของ SYS นั้น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลชุมชนรอบข้างเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงาน SYS ทุกคนให้มีความมุ่งมั่นและมีความรับผิดชอบในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งแนวคิดเรื่องการรักษ์โลก ลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R แนวคิด Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่อุตสาหกรรมการก่อสร้างไร้คาร์บอน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ SYS นอกจากจะได้คุณภาพมาตรฐานแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด
“ในส่วนของ SYS เองนั้น ได้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายที่ยุโรปมานานแล้ว แม้ปัจจุบันมีคู่แข่งหลายรายที่เข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่คุณภาพเหล็กของ SYS นั้นมีความได้เปรียบกว่าเพราะมี carbon emission footprint ที่ต่ำกว่า อีกทั้งโครงการความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มศักยภาพในการส่งสินค้าไปจำหน่ายยุโรปได้มากขึ้นอีกด้วย” นายฉัตรภพกล่าว
ในงานนี้ นอกจากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประกอบการโรงงานนำร่องที่อยู่ในกลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม กระดาษ เซรามิก แก้ว พลาสติก ไฮโดรเจน และเคมีภัณฑ์ รวม 16 องค์กร แล้ว ผู้ประกอบการยังได้ทดลองใช้แพลตฟอร์มการประเมินค่า Embedded Emission ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินและใช้ประกอบการรายงานให้กับสหภาพยุโรป รวมถึงร่วมฟังการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.วรพจน์ กนกกันฑพงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปฐม ชัยพฤกษทล ผู้จัดการอาวุโส สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกันบรรยาย “แนะนำโครงการเตรียมความพร้อมสินค้าส่งออกสหภาพยุโรปเพื่อรับมือกับมาตรการ CBAM” และ “มาตรการการปล่อยคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป” นอกจากนี้ยังมี ดร.พรทิพย์ วงศ์สุโชโต บริษัท ทรี โมเม้นส์ จำกัด บรรยาย “แนวทางการประเมินและรายงานค่า Embedded Emission” และดร.แพรวพกุล ศิลธรรม บริษัท ทรี โมเม้นส์ จำกัด บรรยาย “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon