มิติหุ้น – ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน ตามคาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 116,000 คันต่อวัน จากปี 2566 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 106,907 คันต่อวัน และจากการติดตามแนวโน้มปริมาณจราจรบนทางยกระดับดอนเมือง พบว่า ในไตรมาสที่ 4/2566 มีปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวันสูงสุดในรอบ 3 ปี ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เฉลี่ยไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 110,336 คันต่อวัน ซึ่งแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดหลังภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย อยู่ในช่วงที่ภาคธุรกิจกำลังฟื้นฟู ทำให้มีกิจกรรมการเดินทางเพิ่มสูงขึ้นเพื่อปรับตัวให้กลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ชัดเจน เช่น มาตรการฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน จำนวน 8.5 ล้านคนในปีนี้ รวมทั้งคาดว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยปี 2567 จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 38 ล้านคน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์เพื่อดำเนินการตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 2567-2571 ภายใต้งบประมาณปี 2567 ใน 7 ด้าน ได้แก่
1. กลยุทธ์ Safer Road Traffic Management/Maintenance เป็นกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนระยะยาว ที่ประกอบด้วยโครงการและงานประจำในการขับเคลื่อน เช่น โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงิน งานซ่อมบำรุงรักษาทางยกระดับ งานกู้ภัยและจัดการจราจร งานควบคุมการจราจร และพัฒนาระบบ Smart Traffic Management เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มีการปรับเปลี่ยนตามบริบทองค์กร และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ คือ “เป็นบริษัทฯ ประกอบกิจการในระบบคมนาคม ขนส่ง และกิจการอื่นๆ ด้วยระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ ล้ำสมัย อย่างยั่งยืน”
2. กลยุทธ์ Inclusive Growth เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเข้มแข็งขององค์กรในด้านการบริหารการจัดการต้นทุนการดำเนินงาน ทั้งในด้านต้นทุนการบริการและต้นทุนทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน และดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดไปยังโครงการทางด่วนใหม่ๆ และเติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งเป็นการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่องของธุรกิจ
3. กลยุทธ์สร้างแหล่งรายได้อื่น New Business Venture บริษัทฯ มีนโยบายในการเพิ่มธุรกิจแสวงหาธุรกิจใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งมีโครงสร้างกลุ่มงานธุรกิจใหม่ (New Business Venture) โดยมีเป้าหมายสร้างธุรกิจแหล่งรายได้อื่นเพิ่มเติมจากธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งปีที่ผ่านมา DMT ได้เปิดตัวบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บริษัท เอ สยาม อินฟรา จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงด้านงานวิศวกรรมโยธา และยังคงมีเป้าหมายการขยายกิจการกลุ่ม New Business ต่อเนื่อง
4. กลยุทธ์ความยั่งยืน ESG in Process (Environment Social Governance in Process) นับเป็นกลยุทธ์แกนกลางเชื่อมโยงกลยุทธ์ธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และการกำกับดูแล (G) ถูกผสมผสานและผนึกเข้ากับกระบวนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในทุกกิจกรรม มุ่งเน้นการมอบคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม 3Rs Projects (Waste, Energy, Water, Paper) โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% เทียบจากกรณีฐาน ภายในปี ค.ศ.2030
5. กลยุทธ์ HPO & Smart Working Place ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และรองรับความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านบุคลากร และเทคโนโลยี ซึ่งกลยุทธ์นี้ เป็นการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โดยการเข้าสู่การได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC27001 และ TQA การวางแผนรองรับวิกฤตและโอกาสในอนาคต การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน เป็นต้น
6. กลยุทธ์ Relationship/Partnership/Synergy Development เป็นกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ จากการวิเคราะห์และจำแนกผู้มีส่วนได้เสียพร้อมทั้งกำหนดระดับความสำคัญ เพื่อแผนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานจากพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย
7. กลยุทธ์ DMT Excellence Recognition เป็นกลยุทธ์ในการสร้างการรับรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ผ่านการประเมินของหน่วยงานภายนอกที่แสดงออกถึงศักยภาพของบริษัทฯ พร้อมทั้งแสดงผลงานเชิงประจักษ์ เพื่อแสดงความพร้อมและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต
สำหรับงบลงทุนในปีนี้ มีจำนวน 167.33 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. งบลงทุนเพื่อการศึกษาวิจัยในการเทคโนโลยีทางยกระดับ และการศึกษางานโครงการต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วย
2. งบลงทุนเพื่อการลงทุนจัดซื้อทางด้านเทคโนโลยีทรัพย์สินใหม่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และ 3. งบลงทุนเพื่อการดำเนินงานบำรุงทางยกระดับตามแผนงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิศวกรรม
ด้านความคืบหน้าการเข้าร่วมประมูลโครงการ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมครบทุกด้าน ทั้งการเงิน และการระดมทุน สำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในปี 2567 ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5), โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9), โครงการ Rest Area บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M7), โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และโครงการทางด่วนอื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของแต่ละโครงการ นอกจากนี้ ยังมีแผนการศึกษาทางเชื่อมอื่นๆ เช่น AOT Ramp และโครงการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางด่วนหรือทางพิเศษ (Non-Toll Business) เป็นต้น
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon