“โรคกลัวความรัก” กำแพงหนาปิดกั้นหัวใจ

535

มิติหุ้น – ทุกคนคงจะเคยมีความรู้สึกดี ๆ หรือมี ‘ความรัก’ ให้กับใครสักคน และยิ่งในช่วงเดือนแห่งความรักแบบนี้ มองไปทางไหนก็เห็นความรักเต็มไปหมด แต่สำหรับบางคน ความรักก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป ด้วยปมในอดีตและประสบการณ์ความรักแย่ ๆ การเริ่มต้นความสัมพันธ์อาจทำให้บางคนถึงกับตัวสั่น ปากซีด เหงื่อออกผิดปกติ ซึ่งอาจเข้าข่าย “โรคกลัวความรัก” โรคกลัวชนิดหนึ่งที่ทำให้เราเลี่ยงการมีความรัก และหากไม่หันมาดูแลหัวใจตัวเองดี ๆ ก็อาจก็กระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ วันนี้ พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ จิตแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ รพ. วิมุต จะมาเล่าถึงอาการและสาเหตุของโรคกลัวความรัก พร้อมแนวทางการรักษา เพื่อให้เรามีความรักที่สดใสได้เหมือนทุกคน

 

“โรคกลัวความรัก” ไม่ต่างจากโรคกลัวอื่น

โรคกลัวความรัก (Philophobia) คือ โรคกลัวเฉพาะเจาะจง (specific phobia) ที่เหมือนกับโรคกลัวความสูงหรือกลัวเลือด แต่ในกรณีนี้คือการกลัวที่เกี่ยวข้องกับความรัก ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์และกลัวการตกหลุมรัก และหากเริ่มรู้สึกชอบหรือมีคนเข้ามาจีบอาจรู้สึกเครียด รวมถึงมีอาการทางกาย เช่น ตัวสั่น เหงื่อออก ปากซีด ใจสั่น แน่นอก หายใจไม่ออก เป็นต้น พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “จริง ๆ โรคนี้แต่ละคนก็มีอาการมากน้อยต่างกันไป บางคนอาจรู้สึกประหม่า กลัว พยายามหลีกหนีคนที่เข้ามาสานความสัมพันธ์ หรืออาจถึงขั้นรีบจบความสัมพันธ์แบบกะทันหัน ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการกลัวมากน้อยขนาดไหน”

 

แผลในใจ-อดีตที่ไม่สวยงาม ส่องสาเหตุ “โรคกลัวความรัก”

โรคกลัวความรักสามารถเกิดได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุจากการพบเจอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรักที่ไม่ดี จนเกิดอาการกลัวขึ้นมา เช่น ผู้ที่เห็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดีในวัยเด็ก พ่อแม่หย่าร้างกัน เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือไม่ได้รับความสนใจ รู้สึกถูกทอดทิ้ง ส่วนบางกลุ่ม ในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีความรัก อาจเคยถูกปฏิเสธ หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีจนสร้างบาดแผลในใจ ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอ เช่น เด็กที่เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ จึงกลัวการสร้างความสัมพันธ์ เพราะรู้สึกว่าความรักหรือความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง “คนที่ผิดหวังในความรักก็ไม่ได้ต้องเป็นโรคนี้ทุกคน อยู่ที่ว่าแต่ละคนเจอมาหนักขนาดไหนหรือรับมือกับมันได้เท่าไหร่ สมมติว่าเราเจอมาหนัก แต่เรารับมือได้ดี มีครอบครัวหรือเพื่อนคอยช่วยเหลือ มันก็อาจเป็นแค่แผลเล็ก ๆ กลับกันถ้าเราเกิดรับมือไม่ไหว ความรักก็อาจเป็นเรื่องน่ากลัวจนกลายเป็นโรคกลัวความรักไปเลย” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวเสริม 

บางคนอาจสงสัยกว่าการเป็นโรคกลัวความรักจะนำไปสู่การเข้าสังคมไม่ได้หรือเปล่า เพราะผู้ป่วยมักจะหลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ คือไม่ได้มีผลแต่อย่างใด เพราะโรคนี้จะเกี่ยวข้องกับการกลัวความสัมพันธ์เชิง
โรแมนติกเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผู้ที่มีภาวะนี้ยังสามารถมีเพื่อนหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ

 

โรคกลัวความรัก บำบัดสม่ำเสมอก็หายได้

คนที่เป็นโรคกลัวความรักสามารถสังเกตอาการตัวเองได้ไม่ยาก โดยหากรู้สึกหวาดกลัวความสัมพันธ์จนเกิดเป็นความวิตกกังวล เก็บไปฝันร้าย หรืออาการอื่น ๆ ที่รู้สึกว่ารบกวนการใช้ชีวิต ก็นับว่าเป็นโรคกลัวความรักแล้ว ซึ่งแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ เล่าถึงกระบวนการรักษาว่า “โดยปกติการรักษาโรคกลัวความรัก จะมีวิธีรักษาเหมือนโรคกลัวอื่น ๆ โดยเน้นปรับความนึกคิด และใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดความกลัว ซึ่งผู้ป่วยต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการกลัวโรคนี้ จากนั้นจึงปรับความคิดไปทีละนิด หรือบางคนอาจใช้วิธีเผชิญหน้ากับความกลัว จนเริ่มคุ้นชินกับมัน บางกลุ่มอาจใช้วิธีเริ่มสร้างสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป ก็จะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้นและมีความรักได้โดยไม่มีอาการกลัว”

“ความรักจริง ๆ เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่บางคนอาจเจอสถานการณ์บางอย่างที่สร้างแผลใหญ่ในใจ จนนำไปสู่การเป็นโรคกลัวความรัก ซึ่งถ้าใครมีภาวะนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะสามารถรักษาหรือทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งการรักษาอาการนี้ก็เหมือนกับการมอบความรักให้กับตัวเอง และเมื่ออาการดีขึ้น เราจะได้กลับมามอบความรักให้กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon