จับตาผลสอบกมธ.ชี้ชะตา ปธ.บอร์ด กสทช. สารพัดปมร้าว – จนถึงขุมทรัพย์กองทุนยูโซ่

164

มิติหุ้น  –  ชี้ชะตาสถานะ ‘หมอไห่’ ประธานบอร์ด กสทช. หลังผลสอบการตีความกฎหมายของ กมธ.เสร็จเรียบร้อยแล้วรอส่งให้วุฒิฯเช็คบิล ไล่ตั้งแต่รับจ๊อบออกตรวจคนไข้-นั่งบอร์ดอิสระแบงก์กรุงเทพ ชงตั้ง ‘ไตรรัตน์’ นั่งเลขาฯตัวจริง ทั้งที่มีคดีเรื่องเงิน 600 ล้านบาทถ่ายบอลโลก ล่าสุดพบความเกี่ยวพันกองทุนยูโซ่ฯ

คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่ได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช.เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกันของประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในประเด็นการทำงานของศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.โดยได้มีการแต่งตั้งอนุฯกรรมาธิการไปตั้งแต่ 31 ต.ค. 2566

โดยมีผู้ส่งเรื่องร้องเรียนที่มีความคาบเกี่ยวว่ายังคงการรักษาผู้ป่วยที่ รพ.รามาธิบดี และมีเอกสารที่ระบุว่า นพ.สรณ มีรายชื่อแต่งตั้งเป็น กรรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า ความคืบหน้า ล่าสุด อนุฯกรรมาธิการได้ตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยและจะรายงานต่อวุฒิสภาและประธานวุฒิสภาต่อไป ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าผลสอบพบว่ามีความผิดหรือไม่มีความผิด ขอให้ขั้นตอนการเปิดเผยต่อวุฒิสภาอย่างเป็นทางการให้แล้วเสร็จก่อน

ส่อขาดคุณสมบัติเข้าข่ายผิดพรบ.

ทั้งนี้ ที่มาการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากหากศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ยังคงออกตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลอยู่ ซึ่งจะเข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ดังนั้น จึงเป็นที่มีที่คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา รับเรื่องไว้พิจารณาและส่งต่อไปถึงสำนักกฎหมาย รวบรวมข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วันเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีการรับตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระธนาคารกรุงเทพจริงหรือไม่นั้น มีการตรวจสอบไทม์ไลน์ของศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ  โดยพบว่าได้รับโปรดเกล้าฯตั้งแต่ 13 เม.ย. 2565 แต่กลับมีเอกสารที่ระบุว่าศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ไปสมัครหรือมีรายชื่อแต่งตั้งเป็น กรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แม้ว่าก่อนหน้านี้ ได้รับการสรรหาจากวุฒิสภาหลังจากสตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2565 “รอรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ” แต่งตั้งเป็นกรรมการกสทช. ในฐานะ “ประธาน กสทช.” ฉะนั้น หลังจากวันที่ 17 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา ไม่ควรมีการกระทำใดๆที่อาจจะเป็นการมิบังควรในระหว่างรอโปรดเกล้าโปรดฯ  

รวบตึงอำนาจตั้งเลขาธิการกสทช.

ด้านปมปัญหาที่เกิดขึ้นของการดำรงตำแหน่งประธาน กสทช.ของศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ ยังรวมไปถึงการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ที่มีข่าวปรากฎในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายว่า ศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ มีความประสงค์ที่จะสรรหาเลขาธิการ กสทช.โดยอาศัยอำนาจตามตามมาตรา 60,61 ระบุว่า ประธานมีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดเลขาธิการกสทช.ได้ แต่ในที่สุดท้ายเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ก็มีมติไม่เห็นชอบชื่อนายไตรรัตน์ ตามที่ประธานกสทช.นพ.เนื่องจาก ไม่เห็นชอบกับกระบวนการสรรหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพราะยืนยันว่าการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของบอร์ดทุกคน

ความขัดแย้งของบอร์ด กสทช.ถูกกล่าวถึงตั้งแต่เริ่มมีการรับตำแหน่งและการตัดสินลงมติในเรื่องสำคัญเพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบอร์ดได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว โดยที่หนักที่สุดคือการสนับสนุนเงินการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพซึ่งการเป็นนำเงินจากกองทุน กทปส.ไป 600 ล้านบาท เพื่อมอบให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในการซื้อลิขสิทธิ์แล้วมาขายต่อให้แก่เอกชนบางราย โดยบอร์ดเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยและได้มีมติปลดนายไตรรัตน์แต่ในท้ายที่สุดประธานกสทช.ก็ไม่มีการออกคำสั่งแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้นายไตรรัตน์ฟ้องร้องต่อบอร์ดเสียงข้างมาก 4 คนว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำให้ตนหมดโอกาสการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานที่จะได้รับแต่งตั้งสรรการเป็นเลขาธิการ กสทช.

ขุมทรัพย์กองทุนยูโซ่กว่าพันล้าน

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงประเด็นกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) หรือ กองทุนยูโซ่ เฟส 2 มูลค่า 1,800 ล้านบาท ให้มีการจัดอบรม 5 ภาค แต่กลับมีข้อมูลว่าอาจใช้งบไม่ตรงวัตถุประสงค์ของกองทุน และที่สำคัญกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยังมีปัญหา จนทำให้มีการอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวถึง 3 ภาค ซึ่งการอุทธรณ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ถ้าว่าหากนายไตรรัตน์ไม่เป็นรักษาการเลขาธิการอีกต่อไปแล้ว การเซ็นสัญญาภาคที่เหลือทั้ง 3 ภาค นัั้น รวมทั้งการบริหารจัดการดูแลจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ มีข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากรายละเอียดการแบ่งจ่ายเป็นงวดงวดๆ ตาม ทีโออาร์และผู้ชนะการประกวดราคา,จำนวนเงินที่ผู้ชนะเสนอราคามาตามระบบ E-bidding ซึ่งวัตถุประสงค์และความคุ้มค่าก็รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการต่อไป แต่แว่วมาว่ามีการเสนอการอบรมต่อหัวในแต่ละครั้งหัวละ 3,700-3,900 บาท แต่ต้นทุนจริงแค่หลักร้อยบาทเท่านั้น เพราะการจัดงานในพื้นที่แต่ละที่เป็นพื้นที่ในต่างจังหวัดต้นทุนเลยไม่สูงนัก

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon