FSMART เปย์ปันผลครึ่งหลังปี’66 อีก 0.18 บ./หุ้น จ่าย 8 พ.ค.นี้ ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตกว่า10% เร่งธุรกิจอีวี GINKA-คาเฟ่เต่าบิน อัพเกรดธุรกิจการเงินครบวงจรให้สอดคล้องพฤติกรรมผู้ใช้

93

มิติหุ้น  –  นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร “บุญเติม” และเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “GINKA Charge Point” ภายใต้วิสัยทัศน์ “นวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท รวมเป็นเงิน 136 ล้านบาท จากผลประกอบการครึ่งหลังปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 ถึง 31 ธ.ค. 2566 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 6 มี.ค. 2567 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรวมทั้งปีบริษัทจ่ายเงินปันผลรวม 0.36 บาทต่อหุ้น โดยมีการจ่ายเงินปันระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท จากผลประกอบการครึ่งปีแรกไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมจากธุรกิจหลัก 2,068.77 ล้านบาท กำไรสุทธิ 299.44 ล้านบาท มีมูลค่าการทำรายการรวม 33,869 ล้านบาท ซึ่งบริษัทพยายามตอบโจทย์ลูกค้าเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติด้วยบริการใหม่ ๆ เช่น การเติมเงิน Wallet การซื้อแพคเกจอินเตอร์เน็ต โดยหาแพคเกจที่เพิ่มความคุ้มค่าเพื่อรักษาฐานลูกค้า และกระตุ้นการใช้งานให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว (CLMV) ให้รับรู้และใช้บริการต่อเนื่อง ด้วยบริการผ่านตู้บุญเติมมากกว่า 125,000 ตู้ และช่องทางเคาน์เตอร์แคชเชียร์กว่า 3,200 จุดทั่วประเทศ รวมถึงการบริษัทเป็นตัวแทนธนาคารมากถึง 8 ธนาคาร ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้บุญเติมได้หลากหลายและได้รับบริการที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจ New S-Curve อย่างเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge Point ในปี 2566 ยังติดตั้งได้มากกว่า 100 จุด และอยู่ระหว่างเพิ่มจำนวนจุดให้บริการเพื่อให้มีรายได้เพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นเดียวกับตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ “เต่าบิน” ที่จะบริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 26.71% มีการขยายตู้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,450 ตู้ รวมเป็น 6,392 ตู้ทั่วประเทศ

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตรวมมากกว่า 10% โดยมุ่งมั่นผลักดันรายได้ธุรกิจเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะ GINKA Charge Point ที่มีเป้าหมายการติดตั้งเครื่องชาร์จระบบ AC ปีนี้ 2,000 จุด ต่อเนื่องไป 5,000 จุด และ 10,000 จุดภายใน 3 ปี โดยจะเพิ่มเครื่องชาร์จระบบ DC เข้ามาทำตลาดในช่วงกลางปี 2567 พร้อมกันนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าปรับโมเดลใหม่สำหรับเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge Point  ซึ่งนอกจากจะให้บริการในรูปแบบสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรแห่งแรก (EV Station) พร้อม “เต่าบินคาเฟ่” เคาน์เตอร์อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ที่มีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม โดยจำหน่ายสินค้าและบริการในรูปแบบการให้บริการด้วยตนเอง เช่น เคาน์เตอร์เครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติที่สามารถชงเครื่องดื่มได้พร้อมกันจำนวนหลายแก้วและมีเมนูที่หลากหลาย อาทิ เมนูชานมไข่มุก รวมถึงเคาน์เตอร์อัตโนมัติจำหน่ายอาหารพร้อมทานต่าง ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นทอด เป็นต้น พร้อมพื้นที่นั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มขณะที่รอชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้แล้ว บริษัทจะขยายในรูปแบบคาเฟ่เต่าบินร้านเล็ก ๆ ที่มีเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (GINKA) เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง สามารถใช้ระหว่างพักรถขณะเดินทาง ที่วางแผนจะเปิดให้บริการแห่งแรกในปีนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังคงรับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 26.71% ในธุรกิจตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ “เต่าบิน” ภายใต้การบริหารของ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด อย่างต่อเนื่อง จากเป้าขยายการติดตั้งในปีนี้เพิ่มเป็น 10,000 ตู้ จากล่าสุด 6,392 ตู้ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) พร้อมขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มความถี่ในการซื้อ จากการออกแบบเมนูใหม่ ๆ ในแต่ละเทศกาลให้กับลูกค้า และขยายให้ได้ตามเป้าหมายที่จะติดตั้งเพื่อบริการให้ได้ 20,000 ตู้ใน 3 ปี

ส่วนธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินผ่านตู้บุญเติม ยังมียอดผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องมากกว่า 15 ล้านรายหรือประมาณ 20 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งคาดว่าในปีนี้กำลังซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มดีขึ้นจากยอดเติมเงินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทจะเพิ่มศักยภาพนวัตกรรมใหม่ จัดโปรโมชั่น พร้อมเพิ่มเติมบริการต่าง ๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงร่วมกับพาร์ทเนอร์อีกอย่างน้อย 1 รายในการเพิ่มจุดชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์อีก 800 สาขา รวมเป็นกว่า 4,000 สาขา เพื่อส่งเสริมบริการให้ครอบคลุมเพื่อรักษาฐานลูกค้าประจำที่มีการใช้งานต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นในการเพิ่มการเป็นตัวแทนธนาคารอีก 1 ธนาคารจากเดิมที่มีอยู่ 8 ธนาคารให้เป็น 9 ธนาคาร พร้อมขยายบริการฝากเงินและถอนเงินสำหรับกลุ่มลูกค้า CLMV ให้ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งขยายพอร์ตสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านราย วงเงินประมาณ 500-800 ล้านบาท โดยบริหาร NPL ให้น้อยกว่า 5% และจะจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือเงินผ่อน (BNPL) ให้กลุ่มนี้เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรเป็นอย่างดี

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon