ส่งออกไทยมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้าง ต้อนรับปีมังกร 2024

119

มิติหุ้น  –  การส่งออกไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้าง ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน        

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ม.ค. 2024 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 10%YOY ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 194.2%YOY (คิดเป็น Contribution to %YOY Growth = 1.5%) และปัจจัยฐาน หากหักปัจจัยพิเศษนี้แล้ว การส่งออกไทยไม่รวมทองคำจะยังขยายตัวได้ 8.5%YOY และค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน -0.3%MOM_SA ถือว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยเริ่มชัดเจนขึ้นบ้าง แม้จะมีอุปสรรคในการขนส่งสินค้าทางเรือจากเหตุสงครามฯ

การส่งออกสินค้าเดือน ม.ค. 2024 ขยายตัวดีขึ้นทุกกลุ่ม

ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าดีขึ้นทุกกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 14% จากหดตัว -8.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และยางพารา ขณะที่มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.3% เร่งขึ้นจาก 5% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
(3)
 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.8% ต่อเนื่องจาก 3.6% ในเดือนก่อน โดยผลไม้กระป๋องและแปรรูปและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 7.1% ชะลอลงจาก 32.4% ในเดือนก่อน (รูปที่ 1 และ 2)

 

การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวทุกตลาดสำคัญ

ภาพรวมการส่งออกขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ โดย (1) ตลาดยุโรป ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน 3.6%YOY เทียบกับหดตัว -8.4%YOY ในเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าในตลาดยุโรปขยายตัวได้หลายกลุ่มสินค้าท่ามกลางข้อจำกัดในการขนส่งเอเชีย-ยุโรปผ่านทะเลแดง การส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัวถึง 10 รายการ โดยเฉพาะเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (85.4%) และยางพารา (55.8%) (2) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% เร่งขึ้นมากจาก 0.3% ในเดือนก่อน การส่งออกสินค้าในตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวได้อย่างทั่วถึงเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (62%) และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (50.4%) (3) ตลาดฮ่องกง ขยายตัวแข็งแกร่ง 72% เร่งขึ้นจาก 35% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบขยายตัว 314.2% และ 24,775.9% ตามลำดับ (4) ตลาดจีน ขยายตัวต่อเนื่อง 2.1% ใกล้เคียงกับ 2% ในเดือนก่อน

แต่ดุลการค้า (ระบบศุลกากร) กลับมาขาดดุล เพราะนำเข้าเพื่อใช้ผลิตและลงทุนสูงขึ้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ม.ค. 2024 อยู่ที่ 25.407.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาขยายตัว 2.6%YOY โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวแข็งแกร่งราว 10% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ -16.7% การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวรุนแรงขึ้นเป็น -15.7% และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวเล็กน้อย -0.1% ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้จึงพลิกกลับมาขาดดุล -2,757.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเกินดุล 972.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ธ.ค. 2023

 

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้

 

SCB EIC มองมูลค่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2024 จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่จะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงปีก่อน (2) ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2024 สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ม.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน อีกทั้ง ข้อมูล PMI ภาคการผลิตขั้นต้นในเดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยยังขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 17 เดือน แม้ภาคการผลิตในหลายประเทศจะยังซบเซาต่อเนื่อง (รูปที่ 3) (3) ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ

 

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในรูป %YOY จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามปัจจัยฐาน โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ที่อาจติดลบสูง เนื่องจากไทยส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาการขนส่งในทะเลแดงและคลองปานามา การแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานโลก การนำภาษีนำเข้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้ามาใช้มากขึ้น และการฟื้นตัวของความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศผู้นำเข้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

ความกังวลประเด็นปัญหาในทะเลแดง (คลองสุเอซ) และภัยแล้งในคลองปานามาเริ่มลดลง แต่ต้องจับตาหากสงครามขยายวงกว้างและยืดเยื้อ

เหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) และภัยแล้งในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญของโลกส่งผลให้ค่าระวางเรือและระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังยุโรป เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ณ 17 ก.พ. 2024 (เพิ่มเป็น 4 เท่าของเดือน พ.ย. 2023) ขณะที่ค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นถึง 7,200 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 3 เท่าของเดือน พ.ย. 2023) สร้างความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปในช่วงต้นปี 2024 โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรปเนื่องจากต้องพึ่งพาการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ

 

ล่าสุดความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าวปรับลดลง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ม 2024 ที่ออกมาไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนักจากเหตุการณ์ทั้งสอง โดยยังสามารถขยายตัวได้มากถึง 10%YOY (หักทอง 8.5%YOY) แม้จะค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาลที่ -0.3%MOM_SA อีกทั้ง การส่งออกไปตลาดยุโรปสามารถขยายตัวได้ชัดเจน 4.8% หรือ 2.9%MOM_SA นอกจากนี้ ค่าระวางเรือยังเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงก่อนเหลือ 3,900 และ 6,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 3 และ 2.5 เท่าของเดือน พ.ย. 2023) ในเส้นทางระหว่างไทย-ยุโรปและไทย-สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี SCB EIC ยังจับตาประเด็นดังกล่าวนี้ เนื่องจากหากปัญหาลุกลามเป็นวงกว้างและยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเพิ่มเติมได้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon