“ศุภมาส” มอบ วว. ขับเคลื่อนโมเดลโครงการแก้จน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างธุรกิจใหม่ Up Skill รายได้เพิ่มขึ้น

94

มิติหุ้น  –  กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  ร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาและออกแบบโมเดลโครงการแก้จน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  “ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส”  ด้วยวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี และนวัตกรรม  (วทน.)  ภายใต้ “โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน”  ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย เครือข่ายในพื้นที่  ด้านการถ่ายทอดความรู้สู่ trainer นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย  พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate  technology) กับบริบทในพื้นที่  รวมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล พร้อมเข้าสู่ตลาดอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการดำเนินงาน    เพื่อให้เกิดอาชีพ  สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี และขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  การดำเนินโครงการของ วว. และพันธมิตรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย  2  แนวทางหลักในการนำองค์ความรู้ วทน. เข้าไปขับเคลื่อน คือ  1) Ready  technology  เทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่ได้ผ่านการวิจัย พัฒนา ทดสอบและใช้งานเห็นผลสำเร็จจริง  มีระดับเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  และ 2) Appropriate  technology  เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม  แก้ปัญหา – ตอบโจทย์  สามารถนำไปปรับใช้ และถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยีกับพื้นที่หรือครัวเรือนยากจน  เพื่อการพัฒนาอาชีพ  โดยประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานเป็นรูปแบบ โมเดลแก้จน คือสร้างธุรกิจใหม่ –  Up Skill  –  รายได้เพิ่มขึ้น”  ดังนี้

จังหวัดปัตตานี   วว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ดำเนินการในพื้นที่ อ. ยะหริ่ง  ได้แก่  1) การเลี้ยงแพะแบบครบวงจร   โดยพัฒนา “ระบบหนุนเสริมงาน” ให้ครัวเรือนมีพื้นที่เลี้ยงแพะและมีอาหารเลี้ยงแพะที่มีคุณภาพ  ด้วยการจัดหาพ่อพันธุ์แพะเนื้อ สายพันธุ์แองโกลนูเบียนและสายพันธุ์บอร์  พัฒนาแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์  ณ  ฟาร์มตัวอย่างบ้านปิยามุมัง  ขนาดพื้นที่  4  ไร่ และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ต.แหลมโพธิ์ จำนวน  20  ไร่  ในการปลูกหญ้ากินนี   มันสำปะหลัง  สำหรับเป็นอาหารสัตว์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้อาหารหมักคุณภาพสูงสำหรับแพะเนื้อ  พัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเม็ดจากมูลแพะเคลือบด้วยจุลินทรีย์ประจำถิ่นจากแหล่งดินสมบูรณ์  พัฒนาคอกเลี้ยงแพะที่ถูกสุขลักษณะ  ทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้  มีทักษะและเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพกว่า  20  ครัวเรือน  มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายลูกแพะ  แพะเนื้อ  ต้นพันธุ์อาหารสัตว์  หญ้าสด  อาหารหมักและปุ๋ยอินทรีย์แบบเม็ดจากมูลแพะ

2) พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพรแกงกูตุ๊   ดำเนินการเพิ่มมูลค่าพัฒนาอาหารทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารหลักของพื้นที่และชาวมุสลิม  เน้นการใช้ภูมิปัญญาสมุนไพรและเครื่องเทศที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่  ในกระบวนการสร้างรายได้และสร้างธุรกิจใหม่จากการแปรรูปผักสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแกงเพื่อสุขภาพ  โดยการวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ การแปรรูประดับกึ่งอุตสาหกรรม การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐาน อย.  สร้างทักษะนักธุรกิจระดับท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชุมชนได้กว่า  15  ครัวเรือน  ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต็อยญิตาลีอายร์ ต. ตาลีอายร์   โดยผลิตภัณฑ์เครื่องแกงที่พัฒนาสำเร็จ  ถูกหลักโภชนาการ  มีรสชาติเผ็ดร้อน  ถูกต้องตามหลักศาสนา  สามารถพกพาสะดวก  เหมาะกับการเดินทางไกล  เช่น เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา พิธีฮัจญ์ เป็นต้น อีกทั้งสามารถนำไปปรุงผสมกับเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อวัวหรือเนื้อแพะ ทำให้อาหารไม่มีกลิ่นสาบ

 

จังหวัดยะลา   ดำเนินงาน  4  กิจกรรม  ดังนี้  ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จำนวน  2  กิจกรรม  ได้แก่   1) การพัฒนาปัจจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อการปลูกข้าวโพดหวาน  ณ  ต.ตาเนาะปูเต๊ะ  อ.บันนังสตา   โดยใช้เทคโนโลยีด้านปัจจัยการผลิต (เกษตรต้นน้ำ) เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหวานสำหรับข้าวโพด เพื่อพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบในพื้นที่ เริ่มจากการปรับปรุงดิน และพัฒนาสูตรปุ๋ยหวานเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยกลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ และนำไปใช้จริงในพื้นที่ พร้อมนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชผักสวนครัวอื่นๆ  เช่น แตงกวา ถั่วฟักยาว  พริกขี้หนูสวน มะเขือ  ตะไคร้หยวกขาว ขมิ้นเกษตร สำหรับประกอบอาหารเพื่อยังชีพในครอบครัวและจำหน่ายในชุมชน

2) การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวโพดเสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักเรียน และการปรับปรุงโรงเรือนการผลิตน้ำนมข้าวโพดพาสเจอไรซ์  ในพื้นที่ อบต.ตาเนาะปูเต๊ะ  กว่า 20 ครัวเรือน  พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากน้ำนมข้าวโพดของมหาวิทยาลัยพื้นที่เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักเรียน โดยการวิเคราะห์ฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์  พัฒนาสูตรน้ำนมข้าวโพดเสริมวิตามินและแคลเซียม สำหรับต่อยอดสู่นมโรงเรียน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้  สนับสนุนอุปกรณ์แยกกากข้าวโพด  วัตถุเจือปนอาหาร คือ วิตามินและแร่ธาตุให้มหาวิทยาลัยพื้นที่นำไปพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงโรงเรือนการผลิตน้ำนมข้าวโพดพาสเจอไรซ์ตามมาตรฐาน สำหรับใช้เป็นครัวกลางในแปรรูปน้ำนมข้าวโพด รวมทั้งออกแบบสายการผลิต ปรับปรุงสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

3) ส่งเสริมการปลูกผักน้ำเบตง    วว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ตำรวจตระเวนชายแดน และกรมส่งเสริมการเกษตร  ส่งเสริมพัฒนาการปลูกเลี้ยงผักน้ำในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา  โดยเพาะเลี้ยงได้แม่พันธุ์ปลอดโรคก่อนนำกลับไปสู่แปลงปลูกของเกษตรกร  ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์โดยคัดแยกจากเชื้อในพื้นที่ เพื่อให้ทนต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาสารละลายธาตุอาหารทางใบ ที่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงผักในธารน้ำไหล และวิเคราะห์สารสำคัญ  คุณค่าทางโภชนาการของผักน้ำ และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ผักน้ำมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น  เกษตรกรได้นำความรู้ทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตผักเชิงพาณิชย์ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถผลิตผักน้ำที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

4) พัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศ  ในพื้นที่ จ. ยะลา  โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)   สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  ทำการรวบรวมสายพันธุ์เบญจมาศมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและขยายพันธุ์ต้นกล้าพันธุ์ปลอดโรคให้แก่เกษตรกร  ส่งเสริมการผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด  โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพการใช้รังสีแกมมาพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะดอกซ้อนออกเป็นช่อ มีสีสันสวยงาม พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตและปรับปรุงพันธุ์แก่เกษตรกรผู้ผลิตเบญจมาศ รวมทั้งกระบวนการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรค  การใช้สารชีวภัณฑ์ในการะบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต  ควบคุมโรคในดินและทางอากาศ  การใช้เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี  ช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการปลูกตัดดอกขายได้ราคากิโลกรัมละ 170 บาท  สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดนราธิวาส    วว. และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  ร่วมดำเนินงาน  3  กิจกรรม  ได้แก่  1) การปรับปรุงกระบวนการผลิตปลาส้มอย่างมีมาตรฐาน  ในพื้นที่ ต.กาวะ กับกลุ่มผู้ผลิตปลาส้มกว่า  60  ครัวเรือน ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโดยเชื้อจุลินทรีย์ (ดี) ที่ช่วยลดระยะเวลาการหมักได้ 20 วัน จากเดิมใช้เวลา 30 วัน โดยผลิตภัณฑ์ยังมีรสชาติคงเดิม  รวมทั้งวิเคราะห์ทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ  การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และทดสอบความพึงพอใจผลิตภัณฑ์  ทำให้กลุ่มฯ สามารถเพิ่มผลผลิตในการป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดและวางแผนการผลิตได้  2) การพัฒนาโรงเรือนเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหาร   โดยกาปรับปรุงอาคารสถานที่ผลิตปลาส้มตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระบุ และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดทำระบบมาตรฐานโรงเรือนการผลิต (GMP) การแปรรูปอาหาร และการยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร  และ 3) การพัฒนากระบวนการทดสอบฤทธิ์ที่ดีต่อสุขภาพของน้ำผึ้งชันโรง   วว. มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ Standard  Operating  Procedure  (SOP) สำหรับใช้เป็นแนวทางและคู่มือสำหรับอาจารย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือชาวบ้าน ในการสร้างอาชีพจากการเลี้ยงผึ้งชันโรงและศึกษาคุณสมบัติน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี สำหรับเป็นข้อมูลในการยกระดับผลิตภัณฑ์และเป็นจุดขายในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมพัฒนาน้ำผึ้งชันโรงเกรดพรีเมี่ยมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไปและเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่  ทำให้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าและความได้เปรียบในพื้นที่

ความสำเร็จของ วว. และพันธมิตรในการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นความภาคภูมิใจที่เป็นรูปธรรมอีกวาระหนึ่งในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืน ก่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นและมีความยั่งยืนตลอดไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว.  ได้ที่ โทร. 0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์  www.tistr.or.th  อีเมล  tistr@tistr.or.th  หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon