BANPU แต่งตั้ง “คนรุ่นใหม่” นำทัพสู่อนาคตในทศวรรษที่ 5 เผยกำไรปี 2566 มั่นคง พร้อมสานต่อจุดยืนอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน

186

มิติหุ้น – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ แถลงปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามมติของคณะกรรมการบริษัท ชูความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านผู้นำ (Leadership Transformation) โดยเป็นบริษัทพลังงานที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ขึ้นนำทัพขับเคลื่อนการ บริหารธุรกิจได้อย่างราบรื่น มีผล 2 เมษายนนี้ พร้อมผลักดันการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรให้กระชับและ ทันสมัย สอดรับกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ สำหรับผลประกอบการปี 2566 ยังคงสร้างกำไรและกระแสเงินสดได้อย่างมีเสถียรภาพจากกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานและกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ควบคู่กับการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตอกย้ำการเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้าง การเติบโตต่อเนื่องและต่อยอดการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้ง นาย สินนท์ ว่องกุศลกิจ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา โดยการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบ้านปูเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแล กิจการที่ดี นอกจากนี้เพื่อสะท้อนถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร (Leadership Transformation) คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดแนวทางและวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession Planning and High Performance Management) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Business Transformation) มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการในปี 2566 กลุ่มบริษัทบ้านปูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,343 ล้านบาท) โดยรายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,562 ล้านเหรียญ สหรัฐ (ประมาณ 54,361 ล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มธุรกิจมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจเหมืองคงความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าราคาก๊าซจะไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทฯ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และบริหารจัดการต้นทุน เพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในโครงการดักจับและกัก เก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มดำเนินการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรียบร้อยแล้ว

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการรักษา ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple และ Temple II ในสหรัฐฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเท็กซัส ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในประเทศลาว โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าชานซี กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในประเทศจีน สามารถเดินเครื่องได้ อย่างมีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง ด้านธุรกิจผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีกำลังผลิตรวมจากพลังงานหมุนเวียน 870 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ในทุกประเทศต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการเติบโตต่อเนื่องของโซลูชันพลังงานฉลาดแบบครบวงจรผ่านการขยายฐาน ลูกค้าและการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ ในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง อาทิ การลงทุนใน โครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในประเทศญี่ปุ่น และการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บ พลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) มีความคืบหน้าสำคัญ โดยบริษัท บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้าน ปู เน็กซ์ กับเอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเซีย-แปซิฟิก ได้รับ คัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี นอกจากนี้ ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ยังขยายการให้บริการ ระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) และการบริหารการเดินทางและ ขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า(EV Fleet Management) เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะให้ครอบคลุม ยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจุดบริการไรด์ แชร์วิ่ง 2,500 จุด, คาร์แชร์ยิ่งกว่า 1,500 จุด, สถานีชาร์จกว่า 300 สถานีและจุด บริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า 20 แห่ง

“สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ จะเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ต่อยอดประโยชน์สูงสุดจาก Banpu Ecosystem เพื่อทำให้บ้านปูเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่สามารถส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต ดิฉันเชื่อมั่นว่าการนำทัพของผู้บริหาร รุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม พร้อมการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากคณะผู้บริหารของกลุ่ม บ้านปูทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยสนับสนุนจะสามารถนำบ้านปูไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน” นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon