ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล (8 มี.ค.) เสนอ 5 เรื่องราวแรงบันดาลใจของ 5 หญิงแกร่งแถวหน้า #InspireInclusion

62

มิติหุ้น  –  สำหรับวันสตรีสากล (International Women’s Day: IWD 2024) ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม #InspireInclusion โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและบทบาทของสตรีในมิติต่างๆ ท่ามกลางอุปสรรคและข้อจำกัดทางเพศ รวมถึงส่งต่อเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจจากผู้หญิงถึงผู้หญิงด้วยกัน เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การมีส่วนร่วม และเสริมสร้างศักยภาพของสตรีด้วยกัน โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอนำเสนอเรื่องบันดาลใจของ 5 ผู้นำหญิงแห่งทรู คอร์ปอเรชั่น ประกอบด้วย 1. ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล 2. ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหาร (ร่วม) ด้านการเงิน 3. ณัฏฐา พสุพัฒน์ หัวหน้าสายงานโมบายล์โพสต์เพย์ 4. อรอุมา วัฒนะสุข หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ และ 5. ภรรททิยา โตธนะเกษม หัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

 

ภายใต้เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telco-Tech Company ผู้บริหารหญิงทั้ง 5 ท่านคือส่วนหนึ่งของบุคลากรในทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งการขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมองค์กร การเตรียมความพร้อมทางการเงินและการลงทุน การนำทัพบุกตลาดเพื่อการเติบโต การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการสร้างกลไกการเติบโตใหม่ๆ บนสมรภูมิดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม กว่าผู้บริหารหญิงเหล่านี้จะก้าวมาสู่แถวหน้า ขับเคลื่อนองค์กรและฝ่าวิกฤตต่างๆ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว และเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ปรากฏขึ้นในสังคมแบบดั้งเดิม เช่น ข้อจำกัดทางเพศสภาพ อคติทางเพศ การเหมารวมทางเพศ และการคุกคามทางเพศ ฯลฯ

 

ทั้งนี้ จากเรื่องราวของผู้บริหารหญิงแกร่งท้ัง 5 ท่าน พบว่า กว่าจะประสบความสำเร็จ ขึ้นแท่นนักบริหารและได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่แบกภาระอันใหญ่ยิ่ง พบจุดร่วมเชิงปัจเจกนิยมที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

 

  1. การตั้งเป้าหมายและมีความมุ่งมั่น (Ambition and Commitment) ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งชีวิตการงานและครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขอเพียงแต่ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและวางแผนตระเตรียมปัจจัยแวดล้อมให้พร้อมต่อการทำหน้าที่ทั้ง 2 มิติ
  2. การมีระเบียบวินัย (Discipline) แม้ผู้หญิงจะมีอุปสรรคทางกายภาพ ตลอดจนกรอบทางสังคม ทำให้ต้องใช้ความพยายามในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่การมีระเบียบวินัยต่อตนเอง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงฝ่าฟันกับอุปสรรคเหล่านั้นได้
  3. การแบ่งปัน (Sharing) แม้ปัจจุบัน สถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยังติดหล่มความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งทุน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการขาดต้นแบบ (Role Model) ที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน เขาเหล่านั้นมีการจัดสรรเวลาให้แก่สังคม โดยร่วมแบ่งปันความรู้ของเธอแก่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่ขาดโอกาส เพื่อการพัฒนาศักยภาพในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้าง ยังพบปัญหาอีกหลายอย่างที่เกิดจากข้อจำกัดทางเพศ จากงานวิจัยของ Career after Babies ธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติอังกฤษ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของแม่ลูกอ่อนจำนวน 848 คนในอังกฤษ ในปี 2565 พบว่า

  • 85% ของผู้หญิงตัดสินใจออกจากงานประจำในช่วง 3 ปีแรกของการมีบุตร และ 19% ออกจากงานด้วยเหตุผลที่นายจ้างไม่สามารถให้ความยืดหยุ่นในการทำงานได้
  • ผู้หญิงในระดับบริหารมีสัดส่วนลดลงถึง 32% ภายหลังการมีบุตร ขณะที่สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในระดับปฏิบัติการและธุรการเพิ่มขึ้น 44% ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงภาวะจำยอมที่ผลักดันให้ผู้หญิงทำงานให้ตำแหน่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญน้อยลง

 

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกและ UNICEF ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมบุตร โดยกำหนดให้เด็กควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน (Exclusive Breastfeeding) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสมองและการเจริญเติบโตของบุตร อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กไทยสัดส่วนน้อยกว่า 20% ได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการที่แม่ต้องกลับเข้าสู่การทำงาน และขาดการสนับสนุนพื้นที่จากองค์กรต่างๆ

 

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ความแตกต่างและข้อจำกัดของผู้หญิงต่อการเข้าสู่สนามการทำงาน ตลอดจนบทบาทของผู้หญิงต่อการพัฒนาองค์กรและสังคม ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงกำหนดนโยบายและอำนวยความสะดวกในองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำหน้าที่แม่ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนบทบาทสตรีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

  1. พนักงานหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้สูงสุด 6 เดือน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน
  2. พนักงานชายจะได้รับสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ปีละ 7 วัน
  3. พนักงานและสมาชิกในครอบครัว สามารถใช้บริการฟิตเนสเซ็นเตอร์ได้ฟรี
  4. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดหา “ห้องให้นมบุตร” (Breastfeeding Room) ซึ่งเป็นสถานที่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานหญิงที่มีลูกอยู่ในชั้นปฐมวัย แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ถูกต้องตามหลักอนามัย ทั้งยังจัดหาตู้เย็นสำหรับจัดเก็บนมแม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณภาพที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้กำหนดนโยบายให้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจะต้องมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงอย่างน้อย 30% ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในองค์กรเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในองค์กรอีกด้วย

 

“ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เราเข้าใจถึงความต้องการของพนักงานในมิติต่างๆ รวมถึงพนักงานหญิงที่หลายคนต้องทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วง เราจึงกำหนดนโยบายและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะลดอุปสรรคทางเพศให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Telco-Tech Company และการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” ศรินทร์รา กล่าว

 

พร้อมติดตามเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นผ่านเลนส์ 5 หญิงแกร่งแถวหน้า กว่าจะเป็นผู้นำในวันนี้ได้ ต้องเผชิญกับอุปสรรค การตัดสินใจ และแนวทางการใช้ชีวิตอย่างไร ติดตามได้ที่ True Blog ตลอดเดือนมีนาคมนี้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon