เวทีเสวนา InvestHK ชี้ตลาดฮ่องกงมาแรง!! พร้อมรับ “สินค้าแฟชั่น-อาหาร” จากไทย

96

มิติหุ้น –   งานสัมมนา “Thailand – Hong Kong Business Forum” โดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (InvestHK) เผยฮ่องกงยังเป็นตลาดสำคัญของประเทศไทยในการขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประเภท “อาหาร” และ “แฟชั่น” พร้อมส่งเสริมโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งในระดับกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup), วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบริษัทข้ามชาติของไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อาหารและเครื่องดื่มอาหารสัตว์แฟชั่นและเครื่องประดับ ไปจนถึงการค้าปลีก และเทคโนโลยีการเงิน ตลอดจนเชื่อมโยงตลาดกระจายสินค้าไทยไปยังจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น

 

โดยอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงที่เติบโตมากถึง 4.2% และสร้างรายได้มหาศาลกว่า 1.45 แสนล้านบาท ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าในฮ่องกงต่างสดใสไม่แพ้กัน มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 1.87 แสนล้านบาท และคาดว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้น 41% จากปีก่อนหน้า ซึ่งจากข้อมูลของ Euromonitor International ตลาดเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มเติบโต 5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้

 

แอลฟ่า เลา อธิบดีสำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (InvestHK) กล่าวแสดงความมั่นใจในเศรษฐกิจฮ่องกงที่กลับมาพลิกบวกระหว่างกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสทอเรีย กรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมคาดการณ์การเติบโตของ GDP ฮ่องกงที่ 3.5% หลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างยาวนานกว่า ปี ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฮ่องกงได้ทำหน้าที่เป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับส่วนอื่น ๆ ของโลก โดยมีข้อได้เปรียบอันเป็นเอกลักษณ์ภายใต้นโยบาย หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากฮ่องกงในฐานะ Super Connector เพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดประเทศจีนได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น หากอ้างอิงการเติบโตของ GDP ฮ่องกง ซึ่งอยู่ที่ 3.2% ในปีที่แล้ว ปีนี้ GDP ของฮ่องกงคาดว่า จะเติบโตถึง 3.5% ซึ่งตัวเลขการเติบโตดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องของฮ่องกง แอลฟ่า กล่าว

 

ในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยสู่ฮ่องกงเพิ่มขึ้นมากถึง 9% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาท ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นหมุดหมายการส่งออกรายใหญ่อันดับ 7 ของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทไทยในฮ่องกงหลากหลายแห่ง อาทิ กลุ่มซีพี ธนาคารกรุงเทพ เบทาโกร และ ห้างบิ๊กซี

 

ในขณะที่ ดร. นลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้แทนการค้าไทย ได้ให้มุมมองสำคัญว่า การสนับสนุนของ InvestHK สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Thailand Vision 2030 ของรัฐบาลไทย ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมและอนาคตที่ยั่งยืน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและไทย ไม่เพียงจำกัดอยู่ในมิติของการทำธุรกิจและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หากยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมและความมุ่งมั่นในการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้การนำอย่างมีวิสัยทัศน์ของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ณ วันนี้ ประเทศไทยได้เริ่มต้นยกระดับขีดความสามารถในระดับท้องถิ่น และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายในปี 2573 ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวฮ่องกงที่พร้อมด้วยรสนิยมและกำลังซื้อนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการแสดงฝีมือและนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจของเรา โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ฮ่องกงได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 13 ของประเทศไทยด้วยมูลค่าการค้าโดยรวมมากว่า 4.7 แสนล้านบาท ดร. นลินี กล่าว

 

หนึ่งในธุรกิจของคนไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในการขยายตลาดสู่ฮ่องกง คือร้าน ‘After You’ โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านป๊อปอัพสาขาต่างประเทศเป็นที่แรกในปี 2563 ที่มาพร้อมกับกระแสตอบรับอันล้นหลาม จนนำไปสู่การขยายสาขาอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง ปีให้หลัง ก่อนจะเปิดสาขาอย่างเป็นทางการในย่านศูนย์การค้าปลีกชื่อดังของฮ่องกง อย่าง คอสเวย์ เบย์ ต่อมา ในปี 2567 After You เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ด้วยการเปิด Flagship Store ที่ห้าง Airside ย่านสนามบินเก่าไคตั๊ก ชูจุดเด่นด้านความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ อาทิ ฮันนี่โทสต์ และมะม่วงจากประเทศไทย เพื่อส่งมอบรสชาติแบบไทยแท้ให้ชาวฮ่องกงได้ลิ้มลอง

 

ทางด้านตัวแทนผู้ประกอบการชาวไทยที่เริ่มเข้าไปทำการตลาดในฮ่องกงและมาร่วมแชร์ประสบการณ์บนเวทีอย่าง จิตพล ศิริวัฒนเมธางกูร ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Gentlewoman แบรนด์แฟชั่นที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจในความชอบและความต้องการของผู้บริโภคซึ่งส่งผลให้แบรนด์สามารถดึงดูดความสนใจของชาวฮ่องกงได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

 

“สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจความชอบและเทรนด์โลกที่กำลังมาแรงในท้องที่นั้น ๆ แนวทางเชิงกลยุทธ์นี้จะไม่เพียงแต่ดึงดูดรสนิยมที่โดดเด่นของผู้บริโภคชาวฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามั่นใจในความสัมพันธ์ของสินค้าเราท่ามกลางกระแสแฟชั่นรอบโลกที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน” จิตพล กล่าว

 

ในปัจจุบัน สินค้าแฟชั่นของไทยเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น ทั้งในด้านการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมและการยึดมั่นในมาตรฐานการผลิตระดับโลก อย่างไรก็ตาม ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ทั้งโอกาสที่จำกัดสำหรับนักออกแบบในการนำเสนอผลงาน การขาดความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและเทคโนโลยีในหมู่นักออกแบบชาวไทย ตลอดจนการจำกัดการเข้าถึงเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแฟชั่นหน้าใหม่และการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในระยะยาว